สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

28 สิงหาคม 2558

การประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดลพบุรี


     การประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดลพบุรี วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี การประชุมเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐ น. โดยมีนายสุวิทย์ อาจนาวัง เกษตรกรจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายสำอาง แก้วประดับ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรีเข้าประชุมแทนประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ซึ่งวาระการประชุม และมีมติการประชุมโดยสังเขป ดังนี้

๑. เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

   ๑.๑ เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวแสดงความขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือเกษตรกร

   ๑.๒ เรื่องการให้ความร่วมมือในการจัดงานคลีนิคเกษตร ที่อำเภอท่าวุ้ง

   ๑.๓ เรื่องการเปิดธนาคารเมล็ดพันธุ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี

   ๑.๔ เรื่องการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการมอบนโยบายของ รมว.
๒. เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว

๓. เรื่องเพื่อทราบ

   ๓.๑ เรื่องการปรับปรุงการดำเนินงานของชุดปฏิบัติการเผชิญเหตุการณ์แก้ไขและบรรเทาปัญหา ๓.๒ เรื่องการรายงานภัยแล้ง (ฝนทิ้งช่วง)

      ๓.๑.๑ เรื่องการรายงานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ๒๒ จังหวัด

      ๓.๑.๒ เรื่องการรายงานผลการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เยี่ยมเยียน และสร้างการรับรู้ภาคเกษตรระดับจังหวัด

   ๓.๓ การจัดสรรงบประมาณโครงการชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่สร้างการรับรู้ภาคเกษตร

   ๓.๔ การสำรวจสภาวะเศรษฐกิจของเกษตรกร

๔. เรื่องเพื่อพิจารณา การจัดสรรเงินงบประมาณโครงการชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่สร้างการรับรู้ภาคเกษตร ซึ่งทางสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดสรรเงินให้แต่ละจังหวัดๆ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่ประชุมได้มีมติ จัดสรรให้ชุดปฏิบัติการระดับอำเภอ ประมาณ ร้อยละ ๗๐ (๗๐,๗๖๑ บาท) จัดสรรให้จังหวัดและเป็นค่าบริหารจัดการโครงการฯ ร้อยละ ๓๐ (๒๙,๐๐๐ บาท) หรือจัดสรรให้อำเภอละ ๘๐๐ บาท ตำบลละ ๔๘๐ บาท เพื่อเป็นค่าวัสดุสำหรับโครงการ







25 สิงหาคม 2558

การประชุมหารือการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ครั้งที่ ๓/ ๒๕๕๘

   เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. นายอภิสรรค์ สง่าศรี ปลัดจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการฯ แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ณ ห้องประชุม ๒ ชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดลพบุรี ผ่านระบบการถ่ายทอดสัญญาจากกรมการปกครอง ซึ่งมีผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวเข้าร่วมประชุม จากกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และ ธกส. โดยมีรองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานการประชุมส่วนกลาง
   ซึ่งมีหัวข้อการประชุม ดังนี้
๑.การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร
๒. การคัดกรองหนี้
๓. แนวทางการเจรจาหนี้นอกระบบ




24 สิงหาคม 2558

การปลูกพืชผัก สวนป่าบนคันนา โดยสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี

แนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน "เสริมคันนา เสริมรายได้"
“พืชผัก สวนป่า บนคันนา”

แนวคิด
   การประกอบอาชีพเกษตรกรรมในปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกพืชเพียงชนิดเดียว ในแปลงเกษตร หรือทำกิจกรรมประเภทเดียว เช่น ทำนา หรือทำไร่อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ลักษณะเช่นนี้ ค่อนข้างมีความเสี่ยงกับปัจจัยต่างๆ เช่น โรคพืช โรคแมลง ดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร หรือราคาสินค้าผันผวนไม่แน่นอน อีกประการที่สำคัญ คือ ในระหว่างที่มีการทำนา หรือทำไร่นั้น ต้องใช้เวลากว่าจะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า ๓ ถึง ๔ เดือน ซึ่งในระหว่างนั้นเกษตรกรย่อมมีค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงการศึกษาบุตร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งที่มีความจำเป็นและไม่จำเป็น ต้องใช้จ่ายทุกวัน
   ในการทำนา หรือทำไร่ในปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง โดยมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาท แต่ราคาผลผลิตที่ขายได้ เช่น ราคาข้าวเปลือกในปัจจุบัน ราคา ๗,๐๐๐ – ๘,๐๐๐ บาทเท่านั้น หากพิจารณาแล้วเห็นว่า มีส่วนต่างประมาณ ร้อยละ ๒๐ – ๒๕ เท่านั้น อีกทั้งราคาสินค้าทางการเกษตรของประเทศโดยรวมมีแนวโน้มราคาคงที่ บางชนิดมีราคาลดลงโดยตลอด หากไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรในแบบที่เป็นอยู่โอกาสที่เกษตรกรจะหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้ทั้งนอกระบบ ในระบบคงยาก มีแต่จะเพิ่มหนี้สินขึ้นไปเรื่อยๆ ท้ายสุดเกษตรกรคงต้องถูกฟ้องร้อง บังคับคดี ถึงขั้นต้องสูญเสียที่ดิน ที่นาของตนเองแน่นอน
   การทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นการน้อมนำแนวคิด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยการปลูกพืชอย่างหลากหลายในแปลงเกษตรแปลงเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพในระหว่างที่ปลูกพืชหลัก หรือรอเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลัก
การนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้
   จากแนวคิดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริง ซึ่งในที่นี้ จะขอนำมาประยุกต์ใช้กับการทำนา ส่วนในพื้นที่ในการทำไร่ ทำสวนก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ สำหรับการทำนาในจังหวัดลพบุรีนั้น มีทั้งพื้นที่ที่ทำนาปรัง ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมือง อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอโคกสำโรงบางส่วน ที่เหลือเป็นพื้นที่นาปีที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เกษตรกรในพื้นที่นาปรังส่วนใหญ่ทำนา ๕ ครั้ง ใน ๒ ปี มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลการเกษตร และสารเคมี ปุ๋ยเคมีเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของข้าว ลักษณะของพื้นที่ทำนา จะเป็นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขัง เป็นผืนนาขนาดใหญ่ติดต่อกัน คันนามีขนาดความกว้าง ๓๐ – ๕๐ เซนติเมตร ขนาดความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐ – ๑๐๐ เมตร ซึ่งแล้วแต่พื้นที่

การเตรียมการ
   จาการนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้มีวิธีการเตรียมการ ดังนี้
   ๑. ศึกษาพื้นที่เพื่อกำหนดรูปแบบพื้นที่การเพาะปลูก
   ๒. วางแผนผังพื้นที่เพาะปลูก
   ๓. ศึกษาพืชเศรษฐกิจ พืชผัก ที่จะทำการเพาะปลูก ความต้องการของตลาด แนวโน้มราคา
   ๔. วางแผนระบบน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ ระบบการจ่ายน้ำ
   ๕. จัดหาแหล่งทุน ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ
   ๖. การสร้างเครือข่าย รวมทำกิจกรรมในรูปแบบกลุ่ม/ สหกรณ์

 แนวคิดสู่การปฏิบัติ
          ๑. ปรับความกว้างของคันนา จากขนาด ๓๐ – ๕๐ เซนติเมตร เป็นขนาด ๓๐๐ – ๓๕๐ เซนติเมตร ให้มีความสูงจากพื้นนา ประมาณ ๕๐ – ๗๐ เซนติเมตร (แล้วแต่ความลาดลุ่มของพื้นที่)
          ๒. ปลูกไม้ยืนต้น ประเภทไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้ยาง ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน เป็นต้น ระยะปลูกระหว่างต้น ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ เซนติเมตร ใน ๑ ไร่ จะปลูกไม้ได้ประมาณ ๒๐ – ๓๐ ต้น
          ๓. ตามแนวระหว่างต้น ปลูกพืชผักสวนครัว
          ๔. ขุดเจาะบ่อบาดาล กลุ่มละ ๑ บ่อ (สำหรับพื้นที่ ๑๐๐ ไร่) พร้อมวางท่อ ตั้งถังเก็บน้ำเป็นท่อซีเมนต์ หรือพัฒนาเป็นระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

การคำนวณเกี่ยวกับต้นทุน จุดคุ้มทุน (คำนวณต่อ ๑๐ ไร่)

          กิจกรรมเดิม (ทำนาอย่างเดียว)
          ในพื้นที่นา ๑ ไร่ (จังหวัดลพบุรี) มีผลผลิต ๕๐๐ – ๘๐๐ กิโลกรัม ราคา กิโลกรัมละ ๘ – ๑๒ บาทที่ความชื้น ๒๒- ๒๖ เกษตรกรจะมีรายได้ ประมาณ ๘,๐๐๐ – ๑๒,๐๐๐ บาท ซึ่งจะมีต้นทุนอยู่ที่ ๔,๕๐๐ ถึง ๕,๕๐๐ บาท จะมีรายได้สุทธิ ไร่ละประมาณ ๓,๕๐๐ – ๕,๐๐๐ บาท ใน ๑๐ ไร่ จะมีรายได้สิทธิ ๓๕,๐๐๐ ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท

           กิจกรรมที่ประยุกต์ (แนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน การพืชผัก สวนป่า บนคันนา)
          ในพื้นทีนา ๑ ไร่ จะมีพื้นที่ ๑,๖๐๐ ตารางเมตร คันนามีขนาด ๓๐ – ๕๐ เซนติเมตร จะมีพื้นที่คันนา รวม ๔๘ – ๘๐ ตารางเมตร มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวคิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๑,๕๒๐ - ๑,๕๕๒ ตารางเมตร หากปรับขนาดคันนาเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐๐ – ๔๐๐ เซนติเมตร จะมีพื้นที่นาลดลงเหลือ ๙๖๐ – ๑,๑๒๐ ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๑๕ – ๗๒.๑๖ เกษตรกรจะมีรายได้ลดลงจากการทำนาฤดูกาลละประมาณ ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ บาทต่อไร่
          หากปรับเปลี่ยนเป็นการทำเกษตรผสมผสาน โดยเฉพาะการปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ยืนต้นบนคันนา เป็นไม้สัก ไม้ยาง ไม้ประดู่ ไม่รวมถึงการปลูกพืชผักในระหว่างแถวต้นไม้ในปริมาณ จำนวนไร่ละ ๒๐ – ๓๐ ต้น ใน ๑๐ ถึง ๑๕ ปี ทั้งนี้อยู่ที่การบำรุงดูแลรักษา จะมีรายได้จากต้นไม้ ต้นละ ๑๕,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท เกษตรกรจะมีรายได้ ๓๐๐,๐๐๐ – ๙๐๐,๐๐๐ บาท ต่อไร่ จะมีต้นทุนจากค่าปรับดินวางคันนาเพิ่ม ค่ากล้าไม้ (ราคากล้าไม้ประมาณ ต้นละ ๒๐ บาท) ค่าปลูก ค่าบำรุงรักษา ค่าจัดการระบบน้ำ และอื่นๆ

การเปรียบเทียบรายได้ (๑๐ ปี)
          กิจกรรมแบบที่ ๑ (ทำนาอย่างเดียวในพื้นที่ ๑๐ ไร่)
มีรายสุทธิได้ต่อ ๑๐ ไร่ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ทำนา ๑๐ ปี มีรายได้ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
          กิจกรรมแบบที่ ๒ (ทำนา พร้อมปลูกไม้ยืนต้นบนคันนา ไม่รวมการปลูกพืชผักบนคันนา)
๑. มีรายได้จาการทำนา ต่อ ๑๐ ไร่ ๓๐,๐๐๐ บาท ทำนา ๑๐ ปี มีรายได้ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
๒. มีรายได้จากการจำหน่ายไม้ จำนวน ๒๐๐ – ๓๐๐ ต้นๆ ละ ๑๕,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ขั้นต่ำ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านบาทถ้วน)
รวมมีรายได้ทั้งสิ้น ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านสามแสนบาทถ้วน) ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้จาการปลูกพืชผักบนคันนาอีกด้วย

ประโยชน์ที่ได้
         ๑. เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินชำระหนี้สิน รักษาที่ดินไว้ทำกิน ไว้ให้ลูกหลาน
         ๒. ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวคิดเกษตรทฤษฏีใหม่
         ๓. ทำให้มีป่าไม้เพิ่มมากขึ้น ช่วยรักษาระบบนิเวศ ลดโลกร้อน ส่งเสริมการรักษาป่า
         ๔. สร้างทรัพยากรอย่างเพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต

ปัญหาอุปสรรค
        ๑. แนวคิดของเกษตรกร 
        ๒. พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ไม่เอื้อต่อการปลูกสวนป่าของเอกชน

ข้อเสนอภาครัฐ
          รัฐควรสนับสนุนส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในด้านแหล่งเงินทุน ปัจจัยการผลิต ด้านวิชาการ
          รัฐควรปรับปรุงแก้ไข พรบ. ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ 
          รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมการทำสวนป่าภาคเอกชน 
          รัฐควรตรากฎหมาย พรบ. ธนาคารต้นไม้ เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้

ผู้เสนอแนวคิด
          สภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี

สัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมการทำงานของสำนักงานจังหวัด ปีงบประมาณ ๒๕๕๙

   นายสำอาง แก้วประดับ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี เข้าร่วมการสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมการทำงานของสำนักงานจังหวัด ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ สิงหาคม พ.. ๒๕๕๘ ณ โรงแรม เอ – วัน พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีหัวข้อและเนื้อในการสัมมนาพอสรุปได้ ดังนี้
. ด้านพิธีการเปิด เปิดการสัมมนาโดย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ปิดการสัมมนา โดยนายวิทยา ประจันตะเสน เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ
. ด้านวิชาการ
   ๒.๑ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดทำคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.. ๒๕๖๐ โดยนายสาลี่ สุขเกิด ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ ๘ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี
   ๒.๒ เรื่องกรอบและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด โดยนายวิทยา ประจันตะเสน เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ
   ๒.๓ เรื่องการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานจังหวัด โดยนายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรแห่งชาติ
   ๒.๔ เรื่องการทบทวนภารกิจตามยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ และการจัดทำคำของบประมาณ โดย ผอ. สำนักยุทธศาสตร์การเกษตรฯ สภาเกษตรกรแห่งชาติ
   ๒.๕ เรื่องแนวทางการทำงานของสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยนายมนตรี ถาวร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การเกษตร
   ๒.๖ เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจในการทำงาน การจัดทำรายงานการเงินและบัญชี การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน การซัดซ้อมทำความเข้าใจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร งานในภาระกิจของสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการทำความเข้าใจการประเมินผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดและการบริหารงานบุคคล โดย ผอ. สำนักบริหารงานกลางและหัวหน้ากลุ่มการกำกับบริหารจัดการที่ดี ผอ. สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ และ ผอ. สำนักกิจการสภาและวิชาการ
   ๒.๗ การเสวนาปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานงานสภาเกษตรกรจังหวัดและข้อเสนอแนะ ดำเนินการอภิปรายโดยหัวหน้าส่วนการต่างประเทศ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ทั้ง ๔ ภาค
   ๒.๘ ผู้บริหารพบพนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายวิทยา ประจันตะเสน เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ









21 สิงหาคม 2558

โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

   วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี และผู้นำท้องถิ่นท้องที่ร่วมโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ให้ความสุข บำบัดทุกข์ สร้างความสมานฉันท์ สร้างสรรค์ค่านิยม ปี ๒๕๕๘ โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ วัดยวด ตำบล อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
   โครงการผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ให้ความสุข บำบัดทุกข์ สร้างความสมานฉันท์ สร้างสรรค์ค่านิยม ปี ๒๕๕๘ เป็นโครงการที่นำการบริการด้านต่างๆ ของส่วนราชการในระดับจังหวัดไปให้บริการประชาชนในพื้นที่ เป็นการพบระหว่างผู้บริหารของจังหวัดกับประชาชนในพื้นที่ ในการสร้างความเข้าใจและความร่วมมืออันดีระหว่างกัน ตลอดจนการรับฟังปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง (www.lopburi.go.th)












13 สิงหาคม 2558

โครงการรวมใจประชาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ

   นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ "รวมใจประชา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ป่าชุมชนตำบลยางโทน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ร่วมดำเนินโครงการโดยสภาเกษตรกรฯ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี กับองค์การบริหารส่วนตำบลยางโทน หน่วยราชการ โรงเรียนบ้านยางโทน องค์กรชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนตำบลยางโทน เข้าร่วมโครงการจำนวน ๓๐๐ คน โดยร่วมกันปลูกไม้มงคล ไม้ป่า ไม้ประจำถิ่นไม้ใช้สอย จำนวน ๑,๕๐๐ ต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตต่อไป