สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

20 พฤศจิกายน 2558

การอบรมสัมมนาเชื่อมโยงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่แหล่งจำหน่ายสินค้า Q

   สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี จัดอบรมสัมมนาเชื่อมโยงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่แหล่งจำหน่ายสินค้า Q ภายใต้โครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด ปี ๒๕๕๗ โครงการยกระดับกระบวนการผลิตแปรรูปและการผลิตสินค้าปลอดภัย โดยมีนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี และมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๑๐๐ ราย เข้าอบรมสัมมนา การอบรมสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นที่ ห้องประชุมโรงแรมลพบุรีอินน์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ ถึง ๑๗.๐๐ น.

   “ทำนาปรัง มีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปี มีแต่หนี้กับซัง” เป็นประโยคที่นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้กล่าวไว้ในคราวเป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมสัมมนาเชื่อมโยงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่แหล่งจำหน่ายสินค้า Q เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมโรงแรมลพบุรีอินน์
ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวถึงปัญหาภาคการเกษตรของไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาหลัก ๓ ประการ ดังนี้
   ๑. การผลิตที่มีต้นทุนสูง
   ๒. ประสิทธิภาพการผลิตค่อนข้างต่ำ และ
   ๓. ราคาผลผลิตตกต่ำ โยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของไทย เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยาพารา เป็นต้น
   ทำไมต้องผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จาการศึกษาห่วงโซ่ของวงจรสินค้าภาคการเกษตรแล้ว พบว่า ผู้ผลิตเกษตรกรซึ่งเป็นต้นทาง หรือต้นน้ำ มีมูลค่ามีรายได้เพียง ร้อยละ ๓๐ เท่านั้น แต่ช่วงกลางน้ำ ได้แก่พ่อค้าคนกลาง หรือผู้แปรรูป และช่วงปลายน้ำ ได้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ส่งออก มีรายได้รวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๗๐ เมื่อผลิตสินค้ามีมาตรฐานปลอดภัยแล้ว ยังใช้วิธีการขาย การวางขายแบบเดิมๆ ปะปนกัน ไม่แยกแยะคุณภาพออกให้เห็นความแตกต่าง ราคาก็จะได้เหมือนเดิม ราคาเท่าเดิม จะทำไปทำไม ไม่มีข้อแตกต่าง เราจะต้องสร้างความแตกต่าง เกษตรกรต้องผันตัวเป็นผู้ประกอบการ คือ ต้องรู้ผลประกอบการของตนเอง รู้รายได้ รู้กำไรขาดทุน
   ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเสรี ซึ่งก็มีทั้งทางด้านที่เป็นคุณ และด้านที่ไม่เป็นคุณจาการรวมตัวกันนั้น ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากให้แก่ตัวท่าน จะต้องมีผู้ได้เปรียบ และผู้เสียประโยชน์ จะมีการแข่งขันทางการค้าอย่างรุนแรง ต่อไปเราต้องมาพิจารณาว่า จะทำอะไร ปลูกหรือผลิตอะไรแล้วไม่คุ้ม สู้ราคาเพื่อนบ้านไม่ได้ ก็ควรลดเลิก ตัวอย่าง เช่น ประเทศลาว ซึ่งมีประชากรน้อย จะผลิตผงซักฟอก ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าประเทศไทย เขาจะผลิตไปทำไม ซื้อจากไทยเราถูกกว่า การผลิตข้าวก็เช่นกัน จะต้องผลิตข้าวอย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น
เรื่องข้าวที่เราบริโภคกันทุกวันนี้ จะแบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด คือ
   ๑. ข้าวที่มีคุณภาพสูง พบที่ประเทศจีน ซึ่งสูญพันธุ์ไม่พบเห็นมานานมากแล้ว แต่ด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มีการผลิตขึ้น ข้าวชนิดนี้มีความหอม นุ่มนอน ราคาสูงมาก
   ๒. ข้าวคุณภาพมาตรฐาน ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดสารพิษ ราคาดี สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ทำรายได้เข้าประเทศ
   ๓. ข้าวคุณภาพทั่วไป มีราคาต่ำ
การผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร หากคิดว่าทำไปแล้ว ขาดทุนไม่คุ้มทุน สู้คนอื่นไม่ได้ ก็พยายามหาวิธีอื่น ตัวอย่างเช่น เคยทำนา หรือทำไร่ ประมาณ ๑๐ ไร่ ควรลดพื้นลงไปปลูกพืชแบบผสมผสาน สักประมาณ ๒ - ๓ ไร่ ให้มีรายได้จากทางอื่น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงลง ท่านชี้ชวนให้เกษตรกรลดต้นการผลิต ชวนให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

   ท่านผู้ว่าฯ ภานุ แย้มศรี ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า จะต้องสร้างเศรษฐิกจระดับชุมชนให้เข้มแข็ง หาจุดนัดพบที่เหมาะสม หาตลาดกลาง สร้างความแตกต่างในตลาดสินค้าคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าปลอดภัย การเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ และการสร้างกลไกภายในให้เกื้อกูลกัน ทางจังหวัดฯ พร้อมจะให้การช่วยเหลือสนับสนุน และจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรทุกคน 











(ภาพโดย คุณมงคล แจ้งนิล สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี)

19 พฤศจิกายน 2558

การประชุมเชิงปฏิบัติการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเกษตรกรต่อการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและการเจ็บป่วยด้วยโรคแลปโตสไปโรสิส

   สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเกษตรกรต่อการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและการเจ็บป่วยด้วยโรคแลปโตสไปโรสิส โดยมีวัตุประสงค์เพื่อสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของเกษตรกรต่อการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและการเจ็บป่วยด้วยโรคแลปโตสไปโรสิสในพื้นที่ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนประชากรในการสำรวจ รวม ๑๓ จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี น่าน พิษณุโลก ชลบุรี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี หนองคาย ลพบุรี นครราชสีมา อำนาจเจริญ พัทลุง นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหนานคร โดยมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ วิธีการทำงาน ตลอดจนตอบประเด็นข้อซักถามต่างๆ ซึ่งมีประธานสภาเกษตรกร และหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร หรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมใน ๑๓ จังหวัด เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุมโรงแรมพักพิง อิงทาง บูติค โฮเทล จังหวัดนนทบุรี





17 พฤศจิกายน 2558

การประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชน

   วันจันทร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ นายภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชน พร้อมด้วยนายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดลพบุรี และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ได้มอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อกลั่นกรองโครงการที่ได้มีการพิจารณารับรองจากตำบล และอำเภอ โดยมีการประชุมที่ ห้องประชุมทานตะวัน ชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดลพบุรี ตั้งแต่เวลา ๑๕.๓๐ ถึง ๑๗.๐๐ น.
ซึ่งมีวาระการประชุมพอสรุปได้ ดังนี้
   ๑. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ปี ๒๕๕๘/ ๕๙
   ๒. คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดลพบุรี
   ๓. การสำรวจความต้องการของประชาชนและพื้นที่ที่จะรองรับการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร
   ๔. การพิจารณากำหนดเกณฑ์มาตรฐานค่าจ้างและวัสดุอุปกรณ์
   ๕. การพิจารณาอนุมัติโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี ๒๕๕๘/ ๕๙ ตามที่คณะกรรมการการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอเสนอ ระยะที่ ๑
   ๖. กรอบระยะเวลาในการนำเสนอโครงการ/ กิจกรรมระดับอำเภอ


16 พฤศจิกายน 2558

การสนทนากลุ่มและให้ความเห็นเรื่อง "การเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร"

   นายสำอาง แก้วประดับ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ได้รับเชิญให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการศึกษาวิจัย การศึกษาประเด็นปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา) และความต้องการความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงประเด็นปัญหาในมิติอื่นๆ ซึ่งคณะผู้วิจัยจัดให้มีการสนทนากลุ่มและให้ความเห็น โดยมีผู้แทนเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ผู้แทน บสย. ซึ่งจัดกิจกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุมกมลพร ๓ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยมีประเด็นสนทนากลุ่มดังนี้
   ๑. ความรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของ บสย.
   ๒. การดำเนินธุรกิจ/ กิจการด้านการเกษตรเป็นอย่างไร และ
   ๓. ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน




12 พฤศจิกายน 2558

การประชุมสัมมนา เรื่องแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในปีงบประมาณ ๒๕๕๙

   สภาเกษตรกร และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนาเรื่องแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมมารวย กาเด็นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีประธานสภาเกษตรกรจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร ทั้ง ๗๗ จังหวัด เข้าอบรมสัมมนา ซึ่งมีหัวข้อการประชุมสัมมนา โดยสรุป ดังนี้
   วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ลงทะเบียน เลขาธิการแจ้งชี้โครงการอบรมสัมมนา
   วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
      นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมทั้งมอบแนวนโยบายในการทำงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ โดยกำชับให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร
      นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายปัญหาการเกษตรไทย นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล  นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งานเพื่อความยั่งยืน ภารกิจของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการเกษตรกร ปัญหาของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และแนวทางการแก้ปัญหา
      นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ "มุมมองการขับเคลื่อนสภาเกษตรกรแห่งชาติในอนาคต" ปัญหาของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
      นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมรองประธานสภาเกษตรกรคนที่ ๑ และ ๒ พร้อมด้วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เสวนาและอภิปรายเรื่อง "สะท้อนการปฏิบัติงานร่วมกันของสภาเกษตรกรแห่งชาติ"
   วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
      นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายธีระ วงษ์เจริญ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ นำเสนอเรื่อง "ขบวนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลเชิงคุณภาพ
      นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ ๒ นายมนตรี ถาวร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมบรรยายเรื่อง "การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร
      นายอำนวย ปะติเส ผู้ทรงคุณวุฒิฯ นำเสนอเรื่อง "การบูรณาการและขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล"
      นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บรรยายสรุปแนวทางการปฏิรูปการเกษตร ขบวนการปฏิรูปด้านการเกษตรกร
      นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ ๒ กล่าวสรุปการประชุมสัมมนา และปิดการประชุมสัมมนา เวลา ๑๖.๐๐ น.










9 พฤศจิกายน 2558

งานทอดกฐินสามัคคีกลุ่มเกษตรกร และสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี

   เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ สภาเกษตรกร และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ร่วมงานทอดกฐินสามัคคีของกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี ณ วัดวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี












7 พฤศจิกายน 2558

การสัมมนาเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบล

   เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ นายสำอาง แก้วประดับ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "การจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบล" โดยมีประธานสภาเกษตรกรภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทีมวิทยากรในการจัดทำแผนฯ ระดับตำบล ในจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมสัมมนา จำนวน ๑๐๐ ราย ซึ่งมีการจัดสัมมนาที่ โรงแรมกาญจน์ ตำบลท่าล้อ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี





4 พฤศจิกายน 2558

การประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล เพื่อชี้้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี ๕๘/๕๙

   นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี มอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี เข้าประชุมเพื่อรับฟังคำชี้แจงและแนวทางการปฏิบัติ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๑.๓๐ น. ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดลพบุรี โดยมีนายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัด มีการถ่ายทอดสัญญาณวีดีทัศน์จากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีสาระดังนี้
  ๑. มาตรการช่วยช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง
  ๒. หลักการ และขั้นตอนการดำเนินงาน
  ๓. กระบวนการอนุมัติงบประมาณ
  ๔. งบที่จะลงไประดับจังหวัด
  ๕. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
  ๖. การชี้แจงการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และธนาคารเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร
  ๗. การบรรยายสรุปบทบาท ภารกิจ มอบหมายงาน การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งรอบแรก และโครงการตำบลละ ๕ ล้านบาท โดยนายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี