สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

3 มิถุนายน 2557

เล่าเรื่อง เมืองลพบุรี


เรื่องจังหวัดลพบุรี
สภาพทางภูมิศาสตร์


            ลพบุรีตั้งอยู่ทางขอบตะวันออกของที่ราบภาคกลางตอนล่าง  มีพื้นที่แผ่ออกไปต่อเนื่องกับขอบที่ราบสูงโคราช  มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน  พื้นที่ทางตอนกลางและด้านตะวันออกมีแนวทิวเขาเพชรบูรณ์ และดงพญาเย็นพาดผ่าน  พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา  บริเวณที่ราบลุ่มมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 25-60 เมตร  มีแม่น้ำลพบุรีและสาขาไหลผ่าน  บริเวณที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีความสูงประมาณ 40-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล  พื้นที่จะค่อย ๆ สูงไปทางทิศตะวันออก  มีทิวเขาพังเหย และเหวตาบัว  เป็นแนวเขตรอยต่อกับจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ
            แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญได้แก่  แม่น้ำ ลำธาร ห้วย คลอง 672 สาย  หนอง บึง  115 แห่ง  น้ำพุ น้ำซับ 14 แห่ง  และมีแหล่งน้ำใต้ดินกระจายอยู่ทั่วไป ในระดับความลึกตั้งแต่ 10-40 เมตร


แม่น้ำลพบุรี
            มีความยาวประมาณ 95 กิโลเมตร แยกสาขามาจาก แม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ไหลเข้าจังหวัดลพบุรี ในเขตอำเภอท่าวุ้ง แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอยุธยา


แม่น้ำป่าสัก
            มีความยาวประมาณ 513 กิโลเมตร  ต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  ไหลเข้าเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี  ผ่านตามแนวเหนือใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร  แล้วออกไปทางจังหวัดสระบุรี  เป็นแม่น้ำที่มีร่องน้ำลึก ตลิ่งสูงชัน ที่ราบลุ่มน้ำมีบริเวณแคบ และคดเคี้ยวปัจจุบันได้สร้างเขื่อนอันเนื่องจากพระราชดำริ คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และต่อการเกษตรกรรม
แม่น้ำบางขาม
            เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ยาวเพียง 20 กิโลเมตร  มีต้นกำเนิดจากคลอง ในเขตอำเภอบ้านหมี่ ไหลไปรวมกับแม่น้ำลพบุรี ในเขตอำเภอท่าวุ้ง
ลำสนธิ
            มีความยาวประมาณ 70 กิโลเมตร  ต้นน้ำเกิดในเขตเขารวกและเขาพังเหย ทางตอนเหนือของอำเภอชัยบาดาล ต่อกับอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์  ไหลตามแนวเหนือใต้มาบรรจบกับลำพญากลาง ซึ่งไหลมาจากอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี  จากนั้นจะไหลไปตามแนวตะวันตก-ตะวันออก  ไปบรรจบแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอชัยบาดาล
            จังหวัดลพบุรีเคยปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ  เป็นป่าดิบแล้งผืนใหญ่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก  ป่าแดงหรือป่าเต็งรัง และป่าไม้เบญจพรรณในเขตเชิงเขา เมื่อปี พ.ศ. 2504  มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณร้อยละ 34 ของพื้นที่จังหวัด  แต่ในปี พ.ศ. 2540  เหลือป่าสมบูรณ์อยู่เพียงประมาณร้อยละ 3 ของพื้นที่จังหวัด  ปัจจุบันป่าสงวนแห่งชาติในเขตจังหวัดลพบุรีมี 4 แห่ง รวมพื้นที่ประมาณ 1,776 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,110,000 ไร่  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน  นอกจากนี้ยังมีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 1 แห่ง


ป่าซับลังกา
            ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2502  อยู่ในเขตอำเภอชัยบาดาลและอำเภอลำสนธิมีพื้นที่ประมาณ 398 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 248,000 ไร่  เป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดของลพบุรี  สภาพภูมิประเทศทางตอนเหนือเป็นเขาสูง  ตอนล่างเป็นที่ราบ  ป่าซับลังกาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย
ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อม และป่าลำนารายณ์
            ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2512  อยู่ในเขตอำเภอชัยบาดาล อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ และอำเภอโคกสำโรง  มีพื้นที่ประมาณ 715 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 447,000 ไร่  สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับภูเขา
ป่าชัยบาดาล
            ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ. 2527  อยู่ในเขตอำเภอชัยบาดาล  อำเภอท่าหลวง  อำเภอพัฒนานิคม และอำเภอสำสนธิ มีพื้นที่ประมาณ 635 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 397,000 ไร่  สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ
ป่าเขาพะเนียด
            ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2529  อยู่ในเขตอำเภอโคกสำโรง  มีพื้นที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 18,000 ไร่  สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาลูกเดียวโดด ๆ


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์
            อยู่ในเขตอำเภอชัยบาดาล  มีพื้นที่ประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,000 ไร่  เขาสมโภชน์เป็นภูเขาหินปูน  ทอดยาวไปตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้  มีลักษณะสูงชัน  มีถ้ำและหน้าผาจำนวนมาก  เป็นป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่แห่งเดียวในรัศมี 200 
กิโลเมตร จากกรุงเทพ ฯ


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            ลพบุรีเป็นเมืองโบราณเก่าแก่  และมีความสำคัญยิ่งเมืองหนึ่งในภาคกลางของไทย  ที่ตั้งปัจจุบันได้ตั้งทับซ้อนเมืองโบราณเดิม  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ลพบุรีไม่เคยเป็นเมืองร้าง  กลุ่มชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้  เป็นกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 4500-3500 ปีมาแล้ว  และได้พัฒนามาเป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            ได้พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 45,000 ปี ไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง  กระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ  แบ่งออกได้เป็น 2 เขตใหญ่ ๆ ตามสภาพภูมิประเทศได้แก่  เขตเขาวงพระจันทร์ และเขตพื้นที่ลอนลูกคลื่นระหว่าง อำเภอโคกสำโรงกับอำเภอตาคลี  เช่น แหล่งโบราณคดีที่ท่าแค  ศูนย์การทหารปืนใหญ่  โนนป่าหวาย  โนนหมากลาและซับจำปา เป็นต้น


สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนการใช้โลหะ
            มีอายุประมาณ 4500 ถึง 3500 ปีมาแล้วพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ราบลุ่มริมทางน้ำใหญ่  และในพื้นที่ดอนใกล้ภูเขาบางตอนของภาคกลาง  ได้แก่แหล่งโบราณคดีที่บ้านท่าแค ห้วยใหญ่และโนนป่าหวาย เป็นต้น  มีการทำภาชนะดินเผาแบบต่าง ๆ  ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ยังคงใช้ขวานหินขัดอยู่  และมีการทำเครื่องประดับจากเปลือกหอยและหิน


สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้โลหะ
        ระยะที่ 1     มีอายุระหว่าง 3,800 ปี 2,700 ปีมาแล้ว  พบที่แหล่งโบราณคดีที่บริเวณหุบเขาวงพระจันทร์  อ่างเก็บน้ำนิลกำแหง  อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่  ได้พบหลักฐานการถลุงแร่ทองแดง  แม่พิมพ์สำหรับหล่อทองแดงเป็นจำนวนมาก  รูปแบบภาชนะดินเผา ยังคงเป็นแบบที่คล้ายกับแบบในสมัยแรก ๆ
        ระยะที่ 2     มีอายุระหว่าง 2,100-2,300 ปี มาแล้ว  ยังคงมีการผลิตทองแดงอย่างต่อเนื่อง และพบเครื่องประดับสำริด มีการติดต่อกับวัฒนธรรมดองชอน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมยุคเหล็ก มีศูนย์กลางในประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ได้พบลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ ในแหล่งโบราณคดีที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่  แสดงว่าได้มีการติดต่อกับชุมชนในประเทศอินเดียแล้ว มีการใช้ภาชนะดินเผารูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นได้แก่  ภาชนะสีน้ำตาลเข้ม ด้านนอกขัดมันเป็นภาชนะประเภทหม้อ ไหก้นกลม  ชามก้นกลม
         ระยะที่ 3    มีอยู่ระหว่าง 2,300-1,500 ปีมาแล้ว  ชุมชนในระยะนี้เริ่มเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น  บางแห่งเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่  บางแห่งก็พัฒนาจากชุมชนเดิม  มักตั้งอยู่ใกล้ทางน้ำสายใหญ่ เช่น แหล่งโบราณคดีท่าแค ในระยะนี้มีการใช้เหล็ก ทำเครื่องมือเครื่องใช้กันแพร่หลาย  ได้พบเครื่องประดับทำจากแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ  ซึ่งเป็นวัตถุที่มาจากอินเดีย  การเปลี่ยนแปลงของชุมชนทำให้โครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรมซับซ้อนขึ้น มีการรวมตัวเป็นบ้านเมืองสมัยประวัติศาสตร์
แรกเริ่มที่เรียกว่า ทวาราวดี  ตัวอย่างชุมชนที่กลายมาเป็นเมืองโบราณได้แก่  เมืองซับจำปา  เมืองดงมะรุมและตัวเมืองลพบุรี เป็นต้น
สมัยประวัติศาสตร์
            ชุมชนในยุคเริ่มในสมัยประวัติศาสตร์บางแห่ง  มีการดัดแปลงพื้นที่โดยการขุดคู และถมเป็นคันดินล้อมรอบชุมชน  ที่ปรากฎร่องรอยชัดเจนมี 4 เมือง คือ  เมืองเก่าลพบุรี  เมืองดงมะรุม  บ้านเมืองใหม่ไพศาลี และเมืองซับจำปา  มีการค้าขายกับอินเดียมากกว่าแหล่งอื่น  วัฒนธรรมอินเดียได้เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  รูปแบบวัฒนธรรมร่วมจากอินเดีย ปรากฎเด่นชัดในพุทธศตวรรษที่ 12-14 และได้เรียกช่วงเวลาดังกล่าวนี้ว่า สมัยทวาราวดี
            อาณาจักรทวาราวดี เชื่อกันว่าอยู่ที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครปฐม  เนื่องจากได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 อยู่เป็นจำนวนมาก


สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-14)
            เมืองลพบุรีในยุคนี้รู้จักกันในชื่อว่า เมืองละโว้ หรือลวปุระ  ชื่อเมืองละโว้ปรากฎอยู่จนถึงสมัยอยุธยา ชื่อเมืองนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ลัวะ หรือ ละว้า  ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเป็นเจ้าของดินแดน ในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากชื่อเมืองลวปุระ ที่อยู่ในอินเดียและอาจผันมาเป็นลพบุรี  ซึ่งหมายความว่า เป็นเมืองของพระลวะหรือพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระราม
            เมืองลพบุรีมีความสำคัญที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  เรือสำเภาเดินทะเลที่เข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถแล่นไปถึงแม่น้ำลพบุรีได้ ทำให้ลพบุรีเป็นเมืองท่าที่ค้าขายติดต่อต่างประเทศที่สำคัญในสมัยทวาราวดี เช่นเดียวกับเมืองเก่าอีกหลายเมืองในภาคกลาง นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาอีกด้วย มีร่องรอยหลักฐานอันเนื่องจากพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก
            วัฒนธรรมทวาราวดีอาจกล่าวได้ว่า เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากพุทธศาสนา โบราณสถานอันได้แก่  สถูป  เจดีย์ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ สร้างด้วยอิฐและตกแต่งด้วยปูนปั้นหรือดินเผา เช่น ที่วัดนครโกษา  โบราณวัตถุได้แก่  เครื่องมือเครื่องใช้ที่สำคัญ คือ เหรียญ  ที่ส่วนใหญ่ทำด้วยเงินมีลายดุนเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ตามคตินิยมของอินเดีย ได้พบเป็นจำนวนมากที่เมืองพรหมทิน
             มีการใช้อักษรจารึกข้อความต่าง ๆ บนศิลา  ฐานพระพุทธรูป  ธรรมจักร และพระพิมพ์ดินเผา  บนพระพิมพ์ดินเผานิยมจารึกคาถา เย ธมฺมา.....  เพื่อประสงค์ในการสืบอายุพระพุทธศาสนา ตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรแบบอินเดียตอนใต้  สำหรับภาษามีทั้งภาษาบาลี  สันสกฤด และภาษามอญโบราณ เช่น จารึกบนเสาแปดเหลี่ยม พบที่ศาลพระกาฬ จารึกหลักที่ 18 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืน พบที่วัดศรีมหาธาตุ และจารึกบนเสาแปดเหลี่ยม พบที่เมืองซับจำปา
สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 15-18)
            ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา  ลพบุรีกลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง และเป็นศูนย์กลางทางการค้าแทนที่เมืองนครชัยศรี และในช่วงเวลาดังกล่าว อิทธิพลของวัฒนธรรมขอม ได้เริ่มแพร่ขยายเข้ามาสู่ภาคกลาง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลพบุรี  ทำให้ศิลปกรรมที่เมืองลพบุรี มีรูปแบบคล้ายคลึงกับศิลปะขอมสมัยพระนครเป็นอันมาก ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่ใกล้เคียงกับศิลปกรรมในวัฒนธรรมแบบขอมเป็นจำนวนมาก  ได้มีการนำชื่อลพบุรีมาใช้เป็นชื่อเรียกศิลปกรรมแบบขอม ที่พบในพื้นที่ภาคกลางและภาคอื่น ๆ ว่า สมัยลพบุรี เป็นวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18  พุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้กลายเป็นศาสนาหลัก ได้พบศิลาจารึกขอมได้แก่ จารึกหลักที่ 19 และหลักที่ 20 พบที่ศาลพระกาฬและจารึกหลักที่ 21 พบที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง
            จารึกหลักที่ 116  ที่ปราสาทพระขรรค์ นครวัด  ได้กล่าวถึง การสร้างพระชัยพุทธมหานาถ ไปประดิษฐานไว้ในปราสาทหินต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  มีเมืองลโวทยปุระรวมอยู่ด้วย จากภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัด มีภาพทหารม้าจากแคว้นละโว้ นอกเหนือจากภาพกองทหารจากสยาม  หลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ได้แก่  ปรางค์แขก  ปรางค์สามยอด  ศาลพระกาฬหรือศาลสูง และปรางค์นางผมหอม  บรรดาประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนา เช่น พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปปางนาคปรก ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ล้วนเป็นศิลปแบบเขมร


สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษ ที่ 19)
            เมื่ออิทธิพลของเขมรเสื่อมลงไปจากดินแดนแถบนี้  เมืองลพบุรีก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางการค้าและความเจริญอีกต่อไป  ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ได้ไปอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เมืองอโยธยา ส่วนดินแดนทางเหนือได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น  โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุโขทัย
            ศิลปกรรมเมืองลพบุรีในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป  กลายเป็นการสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน  อันเป็นที่นับถือกันแพร่หลายในห้วงเวลานั้น  ได้พบหลักฐานการสร้างพระสถูปเจดีย์ ที่เป็นแบบอย่างพุทธศาสนา
ฝ่ายเถรวาทอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม มีองค์ระฆังอยู่ส่วนบน เช่น เจดีย์รายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  มีการเปลี่ยนแปลงศาสนสถาน จากฝ่ายมหายานเป็นฝ่ายเถรวาท  สร้างพระปรางค์เป็นแบบปรางค์ไทย เช่น ปรางค์ทรงมะเฟืองและปรางค์ทรงฝักข้าวโพด เป็นต้น และมีการสร้างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองอย่างแพร่หลาย


สมัยอยุธยา
            เมืองลพบุรีได้เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  เมื่อปี พ.ศ. 1893  พระเจ้าอู่ทอง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระรามเมศวร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ไปครองเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง  พระองค์ได้ทรงสร้างป้อมคูเมือง และกำแพงเมือง บูรณะซ่อมแซมวัดต่าง ๆ
            ในปี พ.ศ. 2091  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทำศึก กับพม่าทรงเห็นว่าเมืองลพบุรีกลายเป็นประโยชน์ต่อข้าศึก มากกว่าเป็นเมืองหน้าด่าน  จึงโปรดให้รื้อกำแพงป้อมปราการออกทั้งหมด
            ในปี พ.ศ. 2208  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ 2  และพระองค์ได้เสด็จไปประทับปีละประมาณ 9 เดือน  เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ลพบุรีก็ถูกลดความสำคัญลง เป็นเมืองในเขตราชธานีดังเดิม  และถูกทอดทิ้งจนเกือบกลายเป็นเมืองร้าง


สมัยกรุงธนบุรี
           ในปี พ.ศ. 2310  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์  เมืองศรีสัตนาคนหุตและเมืองหลวงพระบาง  ได้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองเหล่านั้นลงมาด้วยเป็นจำนวนมาก  แล้วให้ไปตั้งถิ่นฐานตามเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองลพบุรีด้วย


สมัยรัตนโกสินทร์
            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2  เมื่อสร้างพระราชวังขึ้นที่เมืองลพบุรีแล้ว จึงสถาปนาเป็นพระนารายณ์ราชนิเวศน์
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2438 ได้ตั้งลพบุรีเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลกรุงเก่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ได้พัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางทหาร รวมทั้งการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกมาก


มรดกทางธรรมชาติ
            นอกจากจะมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่สมบูรณ์ไปด้วย ภูเขา  แม่น้ำ  ป่าไม้  ที่ได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้นยังมีธรรมชาติที่มีความโดดเด่น ที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกมากมายพอประมวลได้ดังนี้

เทือกเขาสมอคอน
            อยู่ในเขตตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง  เป็นเทือกเขายาวประมาณ 4 กิโลเมตร  เทือกเขานี้มีความสวยงาม  ประกอบด้วยหินสีขาวประเภทหินอ่อนรวมตัวกันเรียงรายอย่างวิจิตรพิศดาร  มีพรรณไม้ขึ้นแซมดูคล้ายสวนหินธรรมชาติ  เนื่องจากเขาสมอคอนตั้งอยู่โดดเด่นกลางทุ่งนา  เมื่อฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมท้องทุ่ง เห็นเขาสมอคอนเป็นเกาะอยู่กลาง  ผู้ที่จะเดินทางไปเขาสมอคอนในช่วงน้ำหลาก จึงต้องใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางไปจากทุ่งพรหมมาสตร์  เขาสมอคอนมีถ้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำวิหาร  ถ้ำมะขาม  ถ้ำน้ำ  ถ้ำพระนอน  ถ้ำชิงช้า  ถ้ำพราหมณ์  ถ้ำพระฉาย  ถ้ำตะโก  ถ้ำช้างเผือก  ถ้ำขี้อาย  ทั้งหมดล้วนเป็นถ้ำที่สวยงาม


เทือกเขาสมโภชน์
            อยู่ในเขตอำเภอชัยบาดาล  เป็นเทือกเขาที่ประกอบด้วยเขาหินปูนสองลูก ทอดตัวต่อเนื่องกันในแนวทิศตะวันออก ของอำเภอชัยบาดาล  มีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร  กว้างประมาณ 2 กิโลเมตร  ยอดเขาสูงสุดสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร  เทือกเขานี้มีความงดงามตามธรรมชาติ  มีลักษณะสมบูรณ์ตามแบบของภูเขาหินปูน  ที่มีหินปูนสีเทาอ่อนและสีเทาอมฟ้า  บางส่วนเป็นหินทรายและหินดินดาน บนยอดเขาเป็นที่ราบซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยา ที่หาดูได้ยาก เป็นต้นกำเนิดน้ำซับ ที่เป็นแหล่งน้ำใช้ของพื้นที่ใกล้เคียง


            บริเวณเชิงเขามีสวนหินธรรมชาติที่วิจิตรงดงามเรียกว่า ลานหินผุด  เป็นสภาพของหินบนที่ราบขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร บนพื้นที่กว่าร้อยไร่  ก้อนหินที่โผล่ขึ้นมามีขนาดต่าง ๆ กัน และมีรูปร่างแปลกตาสวยงาม  จากหลักฐานทางธรณีวิทยาทำให้ทราบว่า  เทือกเขานี้ตกตะกอนสะสมตัวในน้ำทะเลตื้น เมื่อประมาณ 230-280 ล้านปีมาแล้ว เทือกเขานี้ยังคงความสมบูรณ์ทางนิเวศน์วิทยาอยู่มาก  มีถ้ำอยู่หลายถ้ำที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ ถ้ำเพชรและถ้ำทิพย์


เขาวงพระจันทร์
           อยู่ในเขตตำบลห้วยโป่ง  อำเภอโคกสำโรง  เป็นภูเขาที่มียอดสูงเป็นอันดับ 3  ของจังหวัดลพบุรี  มีป่าไม้ขึ้นปกคลุม  ที่เชิงเขามีบันไดทางเดินขึ้นสู่ยอดเขา ประมาณ 3,900 ขั้น  บนยอดเขารอยพระพุทธบาท  ศาลพระสังกัจจายน์  พระพุทธรูปปางมารวิชัย และปางประทานพร  บนยอดเขาจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบได้กว้างไกล เขาวงพระจันทร์มีชื่อปรากฎอยู่ในตำนานเรื่อง ท้าวกกขนาก อันเป็นเรื่องตำนานเกี่ยวกับเมืองลพบุรีจากเรื่องรามเกียรติ์


ถ้ำค้างคาวเขาวงกฏ
            อยู่ในเขตตำบลสนามแจง อำเภอบ้านหมี่  เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นล้าน ๆ ตัว  เมื่อตกเวลาเย็นใกล้ค่ำ ฝูงค้างคาวจะพากันบินออกจากถ้ำเป็นสายยาวมาก นับว่าเป็นทัศนีย์ภาพที่สวยงามน่าชมมาก  ตอนเช้าตรู่เมื่อค้างคาวบินกลับจากการหากิน เมื่อมาถึงบริเวณปากถ้ำ ค้างคาวจะบินดิ่งลงไปที่ปากถ้ำ และจะมีนกประเภทเหยี่ยวมาคอยโฉบค้างคาวไปกินเป็นอาหาร


สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง
            อยู่ที่ตำบลท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล  น้ำตกวังก้านเหลืองเป็นน้ำตกแห่งเดียวในจังหวัดลพบุรี ที่มีลักษณะพิเศษคือ ต้นน้ำมีน้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดินที่ห้วยมะกอก  ห่างจากบริเวณน้ำตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดิมต้นน้ำเป็นเพียงน้ำพุเล็กในหน้าแล้งน้ำจะแห้ง  ต่อมาจึงได้ช่วยกันขุดลึกลงไปกว่า 4 เมตร ก็พบน้ำผุดขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี จนกลายเป็นธารน้ำตก ไหลลัดเลาะไปตามลาดหินเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันไปต่ำกว่าสิบชั้น แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก  การที่ได้ชื่อว่าน้ำตกวังก้านเหลือง เพราะในอดีตบริเวณนี้มีต้นก้านเหลืองขึ้นอยู่มาก บริเวณน้ำตกมีต้นไม้ใหญ่น้อยปกคลุมร่มรื่น มีหินงอกหินย้อยสวยงาม

ป่าซับลังกาและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา
            ป่าซับลังกาอยู่ในเขตอำเภอชัยบาดาล และอำเภอลำสมธิ ได้ประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2502  มีพื้นที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 249,000 ไร่  ป่าซับลังกาเป็นป่าต้นน้ำของลำสนธิ  ประกอบด้วยป่าหลายชนิด เป็นแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์
            เมื่อ ปี พ.ศ. 2529 ได้ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อยู่ในเขตอำเภอลำสนธิ มีพื้นที่ประมาณ 155 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 97,000 ไร่ เป็นที่ราบอยู่ในหุบเขาล้อมรอบด้วยเทือกเขารูปก้ามปู ทิศตะวันออก กั้นด้วยเทือกเขาพังเหย  ทิศตะวันตกกั้นด้วยเขารวก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 140-850 เมตร  เทือกเขาดังกล่าวประกอบด้วยเขาเรดาร์  เขาทหาร  เขาพังเพย  เขาซับหวาย  เขานกกก  เขาน้ำดั้น  เขาผาผึ้ง  เขาผาแดง  เขาไม้รวก  เขาถ้ำพระ  เขาผาไม้แก้ว  เขาตะโก  เขาอ้ายจัน


อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก
            อยู่ในเขตตำบลโคกตูม อำเภอเมือง  เป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติมีมาแต่โบราณ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียน วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับเหล็กเข้าไปในเขตพระราชฐาน  ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อก่อนปี พ.ศ. 2500  ได้สร้างเขื่อนดินกักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร  ต่อมาได้สร้างถนนรอบอ่างเก็บน้ำ  ปลูกต้นไม้และสร้างศาลาพักร้อน ไว้สำหรับให้พักชมทิวทัศน์ที่สวยงาม  สามารถมองเห็นเขาจีนโจน  เขาจีนแลได้อย่างดี  เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี


มรดกทางวัฒนธรรม
            ลพบุรีเป็นเมืองเก่าแก่โบราณ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และได้มีการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยไม่ขาดสายมาจนถึงปัจจุบัน  บรรดาโบราณสถานต่าง ๆ จึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังคงปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้  โบราณสถานที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้

เทวสถานหรือปรางค์แขก
            อยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  เป็นปรางค์ที่สร้างด้วยอิฐไม่สอปูน  มีอยู่สามองค์ แต่ไม่มีเฉลียงเชื่อมต่อกันเหมือนปรางค์สามยอด  มีกรอบประตูทางเข้าด้านหน้าอยู่องค์ละหนึ่งประตู  กรอบประตูไม่มีทางเข้าออก  เดิมเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ลัทธิฮินดู  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 มีลักษณะคล้ายปรางค์ศิลปะเขมร แบบพะโค  เป็นปรางค์แบบเก่าคือ มีประตูศิลาเข้ากรอบเลียนแบบเครื่องไม้
            ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  องค์ปรางค์ได้รับการซ่อมแซมด้วยอิฐสอปูน และได้สร้างวิหารเล็กหน้าปรางค์ มีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม ที่หน้าจั่วมีลายปูนปั้น และถังเก็บน้ำประปาอยู่ทางทิศใต้ของตัวปรางค์
            เทวสถานปรางค์แขกนับว่าเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี ที่ยังคงเหลือสภาพสมบูรณ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์


พระปรางค์สามยอด
            อยู่ที่ตำบลท่าหิน  อำเภอเมือง  เป็นโบราณสถานที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี  ตั้งอยู่บนเนินดินใกล้กับศาลพระกาฬ  เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา  มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 18  สร้างด้วยศิลาแลง  หินทรายตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม ลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกันสามองค์  องค์กลางสูงประมาณ 15 เมตร  มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกันเป็นศิลปะเขมรแบบบายน  ปรางค์องค์กลางมีฐานซึ่งเดิมคงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีเพดานไม้เขียนลวดลายสีแดงเป็นรูปดอกไม้ ด้านหน้าเป็นวงโค้งที่นิยมทำกันในยุคนั้น  ภาพในวิหารอัฐิมีพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี เป็นศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น มีอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20
            ปรางค์สามยอดนี้ สันนิฐานว่าชนชาติขอมเป็นผู้สร้าง โดยได้นำแบบอย่างการก่อสร้างมาจากปรางค์อินเดีย สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ปรางค์องค์กลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก  ปรางค์องค์ขวาประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปรางค์องค์ซ้ายประดิษฐานรูปนางปรัชญาปารมิตา


ปรางค์นางผมหอม
            อยู่ที่ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล  มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวโดด ๆ ก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่ไม่สอปูน ปัจจุบันยอดปรางค์หักหมด มีประตูเข้าไปในตัวปรางค์ได้ กรอบประตูสร้างด้วยแท่งหิน ภายในตัวปรางค์เป็นห้องโถง รอบ ๆ องค์ปรางค์มีก้อนหินใหญ่อยู่เกลื่อนกลาด ห่างออกไปจากองค์ปรางค์ไปไม่มากนักเป็นเนินดิน มีซากอิฐอาจจะเป็นฐานวิหารหรือเจดีย์ ชาวบ้านเรียกว่า โคกคลีน้อย และยังมีเนินดินกว้างอยู่อีกแห่งหนึ่งเรียกว่า โคกคลีใหญ่  บริเวณที่ตั้งของปรางค์นางผมหอม มีแม่น้ำมาบรรจบกันสองสาย คือ  ลำสนธิกับลำพญากลาง  สันนิษฐานว่าบริเวนนี้เดิมคงเป็นเมืองโบราณ
            มีตำนานพื้นเมืองเรื่องปรางค์นางผมหอมอยู่ว่า  ราชธิดาของเจ้าเมืองแห่งหนึ่งชื่อนางผมหอม มีความงามเป็นเลิศ ทุกครั้งที่นางสระสนาน มักจะไปนั่งที่ก้อนหินก้อนหนึ่งแล้วสระผม บริเวณที่ก้อนหินนั้นตั้งอยู่จึงเรียกว่า ท่านางสระผม วันหนึ่งผมของนางลอยไปตามน้ำกษัตริย์อีกเมืองหนึ่งเก็บผมของนางได้ เกิดความหลงไหลเจ้าของผม จึงให้ทหารออกตามหาเจ้าของผม จนพบแล้วกลับมากราบทูลให้ทรงทราบ  กษัตริย์องค์นั้นจึงเสด็จไปหานาง เมื่อพบแล้วก็เกิดความรักแต่นางมีคู่หมั้นก่อนแล้ว และเป็นสหายของพระองค์ด้วย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงพนันตีคลีกัน ผู้ใดชนะก็จะได้นางผมหอมไปเป็นชายา  นางผมหอมเฝ้าดูการตีคลีด้วยความอัดอั้นตันใจจึงได้ผูกคอตาย  ฝ่ายทั้งสองชายเมื่อทราบเรื่องก็ชวนกันกระโดดน้ำตายด้วยความเสียใจ  สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ปากชวน  ส่วนศพนางผมหอมก็ได้บรรจุไว้ในปรางค์  จึงได้ชื่อว่า ปรางค์นางผมหอม  สถานที่ตีคลีพนันกันก็ได้ชื่อว่า โคกคลี


ศาลพระกาฬ
            อยู่ใกล้ปรางค์สามยอด  เป็นเทวสถานเก่าแก่สมัยขอมครองเมืองลพบุรี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลสูง  เป็นเทวสถานแบบขอม มีลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวขนาดใหญ่ รูปร่างสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นด้านหน้า มีบันไดขึ้นลงทั้ง 4 ด้าน เรือนธาตุหรือองค์ปรางค์หักพังหมดแล้ว ทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทำด้วยหินทราย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 17  ได้พบศิลาจารึกหลักที่ 18 เป็นเสาแปดเหลี่ยม กับศิลาจารึกศาลสูงหลักที่ 19 และ 20  เป็นอักษรขอม  ภายในวิหารประดิษฐานรูปพระนารายณ์ประทับยืนทำด้วยหินสององค์ หรือเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  องค์เล็ก เป็นเทวรูปรุ่นเก่า องค์ใหญ่เป็นประติมากรรมแบบลพบุรี
ศาลพระกาฬเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองลพบุรีมาช้านานจนถึงปัจจุบัน


ป้อม ประตู เมือง ประตูชัย ประตูพะเนียด
      ป้อมปราการของเมืองลพบุรี  ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ มี 2 แห่งคือ  ป้อมท่าโพธิ และป้อมชัยชนะสงคราม
ป้อมท่าโพธิ อยู่บนเนินเขาท่าโพธิ  ทางด้านเหนือของวัดมณีชลขันธ์
ป้อมชัยชนะสงคราม    อยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีรถไฟลพบุรี เป็นป้อมที่มีลักษณะสูงใหญ่มาก สร้างในสมัยลพบุรี
       กำแพงเมือง ป้อมค่ายและประตูหอรบของเดิม สร้างไว้แข็งแรงมากทั้ง 4 ด้าน ได้มีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยพระราเมศวรเสด็จไปครองเมืองลพบุรี  ในสมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ์  ทรงให้รื้อกำแพงเมืองออกเสีย ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะมายึดใช้เป็นประโยชน์  ในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเพิ่มเติม  โดยสร้างเฉพาะตอนพระราชวังกับป้อมที่มุมเมือง และได้สร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่
      ประตูเมือง สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ  ประตูชัย และประตูพะเนียด
ประตูชัย    อยู่ทางมุมกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ด้านตะวันออกเฉียงใต้  มีลักษณะสูงเด่น ช่องประตูโค้งแหลม  ประตูนี้อยู่ติดกำแพงเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นกำแพงดิน ขนานคู่กับพระราชวังด้านทิศใต้
ประตูพะเนียด    อยู่ในบริเวณค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซากประตูที่เหลือมีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ ในบริเวณนี้มีร่องรอยพะเนียดคล้องช้าง เป็นเนินดินปรากฎอยู่  พะเนียดคล้องช้างนี้ได้ใช้จับช้างมาหลายยุคหลายสมัย


วัดนครโกษา
            อยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง ใกล้กับศาลพระกาฬ เดิมเป็นเทวสถานของขอม มีพระปรางค์แบบลพบุรี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 อยู่ด้านหน้า พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์ ได้สร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ได้พบพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่แบบลพบุรี มีร่องรอยดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปอยู่ 2 องค์  ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เทวสถานแห่งนี้ ภายหลังมีผู้สร้างเป็นวัดในสมัยอยุธยา จะเห็นได้จากซากวิหารที่เหลือแต่ผนังและเสาอยู่ทางด้านหน้า มีเนินเจดีย์สูงก่อด้วยอิฐอยู่ด้านหลัง
            การที่ได้ชื่อว่าวัดนครโกษา  มีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นผู้บูรณะจึงได้ชื่อนี้


พระนารายณ์ราชนิเวศน์
            ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี ทางด้านตะวันตกของตัวเมืองลพบุรี เดิมเรียกว่า วังนารายณ์  สันนิษฐานว่าเป็นพระราชวังของพระราเมศวร คราวที่ประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี เมื่อถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีอย่างงดงาม ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมกับยุโรป  เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระราชวังนี้ได้ถูกทิ้งร้าง  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาใหม่  เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นใน และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์

            พระราชวัง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ชั้น  ชั้นนอกอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นที่ทำการรัฐบาลและเป็นคลัง  ชั้นกลางเป็นโรงช้างโรงม้า  ชั้นในอยู่ทางด้านทิศตะวันตก  เป็นพระราชมณเฑียร  ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้าง มีพระที่นั่ง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจันทรพิศาล  พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  พระที่นั่งและตึกต่าง ๆ  ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอประมวลได้ดังนี้
            พระที่นั่งและตึกที่สร้างในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช  ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  พระที่นั่งจันทรพิศาล  พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง  ตึกพระเจ้าเหา  หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลังและถังเก็บน้ำ
            พระที่นั่งและตึกที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ  หมู่ตึกพระประเทียบ  ทิม บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านวิชาเยนทร์


บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านวิชาเยนทร์
            ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์  ใกล้กับปรางค์แขก  และวัดเสาธงทองในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นที่พำนักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์  จึงได้ชื่อว่าบ้านวิชาเยนทร์  และเมื่อคราวที่ทูตจากประเทศฝรั่งเศส คือ เชอวาเลีย เดอโชมองต์  เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228  ก็ได้พักอยู่ ณ ที่นี้จึงได้ชื่อว่าบ้านหลวงรับราชทูต
            พื้นที่บริเวณบ้านวิชาเยนทร์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน  มีตึกใหญ่น้อยอยู่หลายหลัง มีถังเก็บน้ำประปา และมีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน  นับว่าเป็นสถานที่ที่ใหญ่โต รองลงมาจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์  ส่วนกลางและส่วนด้านตะวันออก  มีสิ่งก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กันคือ โบสถ์ และตึกหลังใหญ่สองชั้น ใช้เป็นที่ต้อนรับทูตต่างประเทศ  โบสถ์ทางคริสตศาสนาเป็นของนิกายเยซูอิต  อาคารบริเวณด้านตะวันตกคงเป็นที่อาศัยของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารบางหลังเป็นแบบยุโรป  แต่บางหลังเช่นอาคารที่เป็นโบสถ์ ผังและแบบของโบสถ์เป็นแบบยุโรป  แต่ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว  และมีปลายเสาเป็นรูปกลีบบัวยาว อันเป็นศิลปะแบบไทย  นับว่าเป็นโบสถ์คริสต์ที่ตกแต่งโบสถ์แบบพุทธหลังแรกในโลก


พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็น
            อยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นบนเกาะกลางทะเลชุบศร  เพื่อใช้เป็นที่สำราญพระอริยาบท  หลังจากเสด็จประพาสล่าช้างบริเวณภูเขาทางด้านทิศตะวันออก  เคยใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ จากฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2228  เพื่อสำรวจจันทรุปราคา  ยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคาที่พระที่นั่งแห่งนี้ ซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้ เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวมลอมพอก  และทรงใช้กล้องส่องดูดาวยาววางบนขาตั้ง  พระที่นั่งนี้มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ  ปัจจุบันเหลือแต่ผนัง เครื่องบนหักพังหมดแล้ว เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว มีผังเป็นทรงจตุรมุข  ทะเลชุบศรเป็นพื้นที่ลุ่มมีพื้นที่ติดต่อกับทุ่งพรหมมาสตร์ไปทางทิศตะวันออก ในฤดูฝน น้ำฝนจะไหลจากภูเขา มารวมอยู่ในแอ่งนี้ จนแลดูคล้ายทะเลสาบ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทำประตูกั้นน้ำ-ระบายน้ำไว้  แล้วไขให้น้ำไหลล้นลงมายังสระแก้ว แล้วฝังท่อดินเผา นำน้ำจากสระแก้วไปยังตัวเมือง ปัจจุบันทะเลชุบศรตื้นเขินหมดแล้ว


วัดสันเปาโล
            อยู่ในเขตตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  คำว่าสันเปาโล  คงจะเพี้ยนมาจาก เซนต์ปอลหรือ แซงต์เปาโล (Saint Paulo) วัดนี้ตั้งอยู่ตรงกับตำแหน่งแผนที่เมืองลพบุรี ที่ชาวฝรั่งเศสทำขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นวัดในคริสตศาสนานิกาย เยซูอิต  มีหอคอยแปดเหลี่ยม สำหรับใช้เป็นที่สังเกตุปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2228  นับว่าเป็นหอดูดาวแห่งแรกของไทย  หอนี้ยังปรากฎอยู่จนบัดนี้  มีซากอาคารก่ออิฐเป็นผนังฉาบปูน แบ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมอยู่รวมกันเป็นแถวมีจำนวน 6 ห้อง  เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป  เพราะปรากฎว่ามีการใช้ลวดลายของบัวประดับอาคาร


เพนียดคล้องช้าง
            ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศตะวันออกในบริเวณค่ายสมเด็จพระนารายณ์  ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  ลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยม  มีมาแต่สมัยขอม เป็นที่จับช้างป่ามาใช้ในราชการเป็นคราว ๆ  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมอร์ซิเออร์  เชวาเลีย  เดอโชมองต์  ราชาทูตฝรั่งเศส  ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับราชอาณาจักรไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ได้บันทึกเป็นจดหมายเหตุไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จับช้างให้ชมที่เพนียดแห่งนี้  ในบริเวณใกล้เพนียดมีประตูเมือง เรียกว่า ประตูเพนียด  ซึ่งสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สระมโนห์รา
            อยู่ข้างปรางค์สามยอดในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  เป็นสระใหญ่มากสระหนึ่ง
สันนิษฐานว่าอาจจะขุดเป็นสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในเมือง หรือมิฉะนั้นก็ใช้ดินที่ขุดจากสระ ถมสร้างหรือสร้างปรางค์สามยอด
สระเสวย
            อยู่บนเนินดินติดกับแม่น้ำลพบุรี  ห่างจากวัดมณีชลขัณฑ์ไปทางเหนือประมาณ 150 เมตร  ในเขตตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมือง  ไม่มีประวัติว่าสร้างในสมัยใด  สันนิษฐานว่าคงมีมาแล้วแต่ครั้งกษัตริย์โบราณ (พระร่วง)  ที่ครองเมือง  ใช้น้ำในสระส่งส่วยน้ำไปให้ขอม
สระแก้ว
            อยู่ในเขตตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  เป็นสระที่มีมาแต่โบราณ  ชาวเมืองได้อาศัยน้ำในสระนี้บริโภค  เชื่อว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธ์  และเป็นศิริมงคล  จึงได้นำไปใช้ในงานพระราชพิธี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำพิธีชุบพระแสงศัตราวุธ ที่สร้างขึ้นใหม่ครั้งหนึ่ง
แท่งหินลูกศร

        อยู่บริเวณหลังวัดปืนใหญ่ริมแม่น้ำลพบุรี  มีแท่งหินโผล่ขึ้นมาเหนือระดับดิน สูงประมาณ 1 เมตร เข้าใจว่าเป็นหลักเมืองโบราณ สมเด็จกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับศาลลูกศรไว้ ในตำนาน เมืองลพบุรีมีความว่า
            หลักเมืองลพบุรีอยู่ทางตลาดข้างเหนือวัง เรียกกันว่า ศรพระราม  จะมีมาแต่สมัยก่อนขอม  ฤาเมื่อครั้งขอมทราบไม่ได้แน่ ที่เรียกกันว่า ศรพระรามนั้น เกิดแต่เอาเรื่องรามเกียรติ์ มาสมมุติเป็นนามของเมืองนี้  ความในเรื่องรามเกียรติว่า  เมื่อเสร็จศึกทศกัณฑ์  พระรามกลับไปครองเมืองอยุธยาแล้ว จะสร้างเมืองประทานหนุมาณจึงแผลงศรไป ลูกศรพระรามไปตกบนยอดเขา ทำให้ยอดเขาราบลง  หนุมาณตามไปถึงจึงเอาหางกวาดดินเป็นกำแพงเมือง แล้วพระอินทร์ให้พระวิษณุกรรมลงมาสร้างเมือง เสร็จแล้วพระรามจึงประทานนามว่า เมืองลพบุรี  ด้วยเหตุนี้จึงอ้างกันมาก่อนว่า หลักเมืองนั้นคือ ลูกศรพระรามกลายเป็นหิน ต่อมาได้มีการก่อกุฎิครอบรักษาไว้ นับถือกันอย่างเป็นศาลเทพารักษ์


มรดกทางพุทธศาสนา
วัดเสาธงทอง

            ตั้งอยู่ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านหลวงรับราชทูต ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง  เป็นวัดเก่าเดิมแยกเป็น 2 วัด คือ วัดรวกกับวัดเสาธงทอง  พระอุโบสถเดิมเป็นของวัดรวก  ถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2470 และได้สร้างขึ้นใหม่  พระวิหารเดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่น คือ เป็นสุเหร่า  เพราะจากแผนที่ที่ทางฝรั่งเศสทำไว้ แสดงว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของชาวเปอร์เซีย นอกจากนี้ก็มีตึกปิจู (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่าเล็ก)  ตึกคชสาร (ตึกโคระส่านหรือโคโรซาน)  เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมืองกับราชทูตเปอร์เซีย นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ และหอระฆัง
วัดป่าธรรมโสภณ
            อยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  วิหารมีรูปทรงคล้ายวัดเสาธงทอง  พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปศิลาศิลปะลพบุรี


วัดตองปุ
            อยู่ติดค่ายศูนย์สงครามพิเศษ อำเภอเมือง  เป็นวัดมอญ คำว่าตองปุเป็นภาษามอญ  แปลว่าเป็นที่รวมพล  มีศิลปกรรมแบบมอญอยู่มาก  มีอาคารอยู่หลายหลังที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น ศาลาการเปรียญ  หอไตร  หอระฆังและศาลาพระศรีอริย์


วัดไลย์
            อยู่ริมลำน้ำที่บางขาม ในเขตตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง  เป็นวัดเก่าตั้งแต่ครั้งตั้งกรุงศรีอยุธยา  มีการปฏิสังขรณ์ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ที่วัดไลย์มีรูปพระศรีอาริย์เป็นของสำคัญอีกที่มีผู้นับถือมาแต่โบราณ  มีพระวิหารซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น  ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ลงรักปิดทอง มีซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช  ด้านหน้าและด้านหลังพระวิหารมีภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติ และเรื่องปฐมสมโพธิ ตอนเทโวโรหนะ  นับว่าเป็นภาพประติมากรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่สำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติ
วัดนิโครธ
            อยู่ในเขตตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง  เป็นวัดเก่าแก่จากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบ เช่น  เศียรพระพุทธรูปศิลา  องค์พระพุทธรูป  เป็นศิลปะสมัยลพบุรี  หลักฐานที่เหลืออยู่พบแต่เพียงฐานศิลาแลงของปรางค์สามองค์เท่านั้น  องค์เจ้าพ่อเทพที่อยู่ในศาลที่สร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2477  ทำด้วยศิลาแลงน่าจะเป็นเทวรูปประกอบเทวสถานของปรางค์องค์เก่า


วัดมณีชลขัณฑ์
            อยู่ในเขตตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมือง  เดิมชื่อวัดเกาะแก้ว  เพราะวัดตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ ได้มีการปฏิสังขรณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานนามว่า วัดมณีชลขัณฑ์  จุดเด่นของวัดนี้คือ  เจดีย์หลวงพ่อแสง  พระอุโบสถ  พระวิหาร  พระพุทธรูปใหญ่ริมน้ำซึ่งมีลักษณะงดงามมาก


วัดเขาสมอคอน
            อยู่บนเทือกเขาสมอคอน เป็นวัดเก่าแก่มาก มีหลักฐานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีเจดีย์ทรงลังกาย่อมุมไม้สิบสอง ที่ทำบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง  เป็นเจดีย์แบบนิยมของสมัยอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  มีโบสถ์และมณฑปที่สวยงาม
            เขาสมอคอนนี้เป็นเสมือนสำนักตักสิลาในสมัยโบราณ  เป็นที่อยู่ของสุกกทันตฤาษี  อาจารย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  และพระงำเมือง เจ้าเมืองพะเยา  เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ได้เสด็จมาศึกษาศิลปวิทยา ณ เขาสมอคอน


วัดเขาตำบล
            เดิมทีวัดเขาทะโมน อยู่ในเขตตำบลมาโสม อำเภอชัยบาดาล  ในบริเวณวัดมีถ้ำที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง เช่น  ถ้ำประทุน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์  นอกจากนี้ก็มีถ้ำพระฤาษี  ถ้ำแสงจันทร์  ถ้ำเอราวัณ  ถ้ำนิมิตร  ถ้ำลับแล  ถ้ำดุมเกวียน  ถ้ำบูรพาและถ้ำมุจลินทร์  มีศิลปวัตถุที่เป็นศิลปะอยุธยา  อายุประมาณ 300-400 ปี


วัดเขาพระงามหรือวัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร
            อยู่ในเขตตำบลเขาพระงาม  อำเภอเมือง  เดิมเป็นวัดร้างไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2455  พระอุบาลีคณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริขันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส  พระนครและพระสงฆ์อีกหลายรูป ได้ธุดงค์มาพักที่วัดนี้เห็นว่าชัยภูมิดี  จึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นที่ไหล่เขา  เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หน้าตักกว้าง 11 วา สูง 18 วา  ตั้งตระหง่านอยู่บนเชิงเขามองเห็นได้ไกล  ถวายพระนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล
            เมื่อปี พ.ศ. 2464  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ มาที่วัดนี้ และได้พระราชทานนามวัดให้ใหม่ว่า วัดสิริจันทรนิมิตร  ต่อมาได้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. 2499

แหล่งข้อมูล : 
http://www1.tv5.co.th