สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

18 กุมภาพันธ์ 2559

กรณีศึกษา

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ชื่อเรื่อง           การศึกษาปัญหาและความต้องการของเกษตรกรจังหวัดลพบุรี
ผู้ศึกษา           สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี
ปีที่ศึกษา         ๒๕๕๘
.........................................
          การศึกษาปัญหาและความต้องการของเกษตรกรจังหวัดลพบุรี มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาปัญหาของเกษตรกร (๒) เพื่อศึกษาความต้องการของเกษตรกร (๓) เพื่อศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรจังหวัดลพบุรี กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรอาชีพปศุสัตว์ในจังหวัดลพบุรี ดำเนินการศึกษา เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการศึกษา ซึ่งแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ ๑ ข้อมูลส่วนตัว ส่วนที่ ๒ ข้อมูลการประกอบอาชีพ ส่วนที่ ๓ ปัญหาของเกษตรกร ส่วนที่ ๔ ข้อมูลความต้องการของเกษตรกร และส่วนที่ ๕ ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาภาคเกษตร (เพิ่มเติม) สำหรับการวิเคราะห์ใช้หลักสถิติในการหาค่าเฉลี่ย และการหาค่าความถี่

          ผลการศึกษา
          ๑. ข้อมูลส่วนตัว ผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวนที่ได้รับแบบสอบถามกลับคืน จำนวน ๕๑ ชุด จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งหมด ๕๖ ราย คิดเป็น ร้อยละ ๙๑.๐๗ แยกเป็น
๑.๑) เพศชาย จำนวน ๓๙ ราย คิดเป็น ร้อยละ ๗๖.๔๗
       เพศหญิง จำนวน ๑๒ ราย คิดเป็น ร้อยละ ๒๓.๕๓
๑.๒) อายุ เฉลี่ย ๔๙ ปี
       อายุสูงสุด ๗๕ ปี
       อายุต่ำสุด ๒๗ ปี
๑.๓) อาชีพ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร สาขาปศุสัตว์เป็นอาชีพหลัก
คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๒๑ รองลงมา ประกอบอาชีพทำนา (ร้อยละ ๑๙.๖๐) และประกอบอาชีพทำสวน ประมง ทำไร่ และเกษตรผสมผสาน ตามลำดับ

          ๒. ข้อมูลการประกอบอาชีพ
                   ๒.๑) การถือครองที่ดิน เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตนเอง มีการถือครองที่ดินไม่เกินครัวเรือนละ ๑๐ ไร่ รองลงมามีการถือครองที่ดิน จำนวน ๓๑ – ๔๐ ไร่ และ ๑๑ – ๒๐ ไร่ ตามลำดับ นอกจากนั้น มีการเช่าที่ดินในการประกอบอาชีพไม่เกิน ๑๐ ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
                   ๒.๒) การทำเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรแบผสมผสาน รองลงมาทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว
                   ๒.๓) การเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ
                   ๒.๔) การผลิตอาหารปลอดภัย ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร รองลงมามีการผลิตที่ได้รับรองมาตรฐาน ส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐาน
                   ๒.๕) การจำหน่ายผลผลิต จำหน่ายสินค้าเกษตรโดยผ่านพ่อค้ากลาง
                   ๒.๖) ประวัติการใช้พื้นที่เกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่มีการปรับปรุงบำรุงดิน
                   ๒.๗) คุณภาพของดิน ที่ดินของเกษตรกรมีคุณภาพในระดับปานกลาง รองลงมาอยู่ในเกณฑ์ระดับดี
                   ๒.๘) แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนใหญ่เกษตรกรใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำจากห้วยหนอง คลอง บึง รองลงมาจะใช้จากแหล่งน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล และน้ำจากชลประทานตามลำดับ
                   ๒.๙) คุณภาพของน้ำ อยู่ในระดับปานกลาง
                   ๒.๑๐) โรคพืชและการใช้สารเคมี เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมี และใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ แบบผสมผสาน
                   ๒.๑๑) การใช้เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ หรือพันธ์สัตว์ เกษตรกรผลิต/ เก็บไว้ใช้เอง โดยมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ หรือพันธ์สัตว์บางส่วน
                   ๒.๑๒) การเก็บเกี่ยวผลผลิต มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามระยะที่กำหนด ตามอายุของพืช/ สัตว์
และเกษตรกรทำการคัดแยกคุณภาพของผลผลิต และการเก็บรักษา บรรจุถุง/ กระสอบ หรือนำเข้ายุ้งฉาง โกดัง โรงเรือน
                   ๒.๑๓) การพักผลผลิตบางชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด เกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตทันทีที่เก็บเกี่ยว
                   ๒.๑๔) รายรับ – รายจ่ายของเกษตรกร
รายได้ในภาคการเกษตร โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่เกษตรกรมีรายได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ – ๒๐๐,๐๐๐ บาท
รายจ่ายในภาคการเกษตร โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่เกษตรกรมีรายจ่ายประมาณ ๕๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาท
รายได้นอกภาคการเกษตร โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่เกษตรกรมีรายได้ประมาณ ๕๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาท
รายจ่ายนอกภาคการเกษตร โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่เกษตรกรมีรายจ่ายประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท
                   ๒.๑๕) ความสามารถในการประกอบอาชีพของเกษตรกร อยู่ในระดับปานกลาง และระดับมากตามลำดับ
                   ๒.๑๖) ทัศนะคติของเกษตรกรในการเป็นเกษตรกร ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เกษตรกรมีความภูมิใจระดับปานกลาง
                   ๒.๑๗) การแปรรูปผลผลิต เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการแปรูปเพื่อยืดอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต

          ๓. ปัญหาของเกษตรกร
                   ๓.๑) ต้นทุนการผลิต เกษตรกรประสบปัญหาในระดับปานกลาง รองลงมาอยู่ในระดับมาก
                   ๓.๒) ความรู้ในการทำการเกษตร เกษตรกรมีความรู้ในระดับปานกลาง
                   ๓.๓) คุณภาพของผลผลิต มีคุณภาพในระดับปานกลาง
                   ๓.๔) ปัญหาหนี้สิน เกษตรกรมีปัญหาในระดับปานกลาง รองลงมามีปัญหาในระดับมาก
                   ๓.๕) การรวมกลุ่มของเกษตรกร เกษตรกรส่วนใหญ่มีการรวมกลุ่มในการดำเนินกิจกรรม
                   ๓.๖) การสนับสนุนเชิงนโยบาย เกษตรกรส่วนใหญ่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเคยเข้าร่วมเวทีเสนอความต้องการ

          ๔. ความต้องการของเกษตรกร
                   ๔.๑) ต้องการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ในระดับปานกลาง
                   ๔.๒) ต้องการแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐ ในระดับมาก
                   ๔.๓) ต้องการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกของสภาเกษตรกร ในระดับมาก
         
ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้งาน
๑. ผลการศึกษานี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี ได้จัดทำขึ้นโดยศึกษาเฉพาะเจาะจงกลุ่มผู้มีอาชีพปศุสัตว์เป็นอาชีพหลัก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ต่างก็ประกอบอาชีพด้านการเกษตรอื่นด้วย เช่น ทำสวน ทำไร่ ทำนา เป็นต้น ซึ่งผลจากการศึกษานี้สามารถนำไปเทียบเคียงหรือนำไปเป็นตัวแทนเกษตรกรสาขาอาชีพเกษตรอื่นได้ด้วย
๒. จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่าเกษตรกรมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสาขาอาชีพอื่นๆ ซึ่งภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลนี้ไปกำหนดแนวทางในการพัฒนาสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือสร้างแรงจูงใจให้หันมาประกอบอาชีพเกษตรเพิ่มขึ้น
๓. ควรนำขอมูลปัญหาและความต้องการของเกษตรกรไปกำหนดเป็นนโยบาย แผนงานในการนำสู่การปฏิบัติเพื่อการปัญหาในแก่เกษตรกรในอนาคตต่อไป
๔. เรื่องการแก้ปัญหาของเกษตรกร ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรต้องพึ่งพาภาครัฐเป็นหลัก ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ซึ่งรัฐควรกำหนดมาตรการ วิธีการ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
๕. เรื่องการผลิต การแปรรูป และการตลาด จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง ยังไม่มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงกลไกราคา ไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ ส่วนใหญ่แล้วจะขายผลิตทันทีหลังเก็บเกี่ยว
๖. ด้านนโยบาย ความช่วยเหลือของภาครัฐ จากผลการศึกษานั้น รัฐได้กำหนดนโยบายและมีการดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เคยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ แต่นโยบายหรือมาตรการที่รัฐใช้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในระยะสั้นสำหรับปัญหานั้นๆ และทำได้เพียงกลุ่มสาขาใด สาขาหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีงบประมาณอยู่จำกัด จึงเป็นผลทำให้ปัญหาของเกษตรกรยังไม่หมดไป รัฐควรกำหนดปัญหาของเกษตรกรเป็นวาระแห่งชาติ เป็นกฎหมาย เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
๗. ด้านความรู้ความเข้าในการประกอบอาชีพของเกษตรกร จากการศึกษาเกษตรกรมีความรู้ในระดับปานกลาง รัฐควรเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีการจัดการองค์ความรู้ และวิธีการถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรอย่างเหมาะกับเกษตรกร นอกจากนี้ควรสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมีความกระตือรือร้นสนใจศึกษาพัฒนาตนเองเพิ่มเติม การดำเนินการของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานในภาคการเกษตร ยังดำเนินการไปโดยขาดเป้าหมายและขาดทิศทางที่ชัดเจน และไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรในด้านเวลาและเนื้อหา
๘. ด้านการรวมกลุ่มของเกษตร จะเห็นได้ว่าภาครัฐมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่างๆ เช่น รวมกันจัดตั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือคณะของเกษตรกรก็ตาม แต่การรวมกลุ่มนั้นส่วนใหญ่มีการรวมกันเฉพาะกิจ เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้ว หน่วยงานที่รับจัดตั้งขาดการส่งเสริมดำเนินการต่อ ทำให้ไม่เกิดการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ ภาครัฐควรมีวิธีการเสริมสร้างให้องค์กรมีความเข้มแข็ง และแต่ละส่วนงานควรบูรณาการทำงานร่วมกัน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ดูแลเรื่องการผลิต กรมพัฒนาที่ดิน ดูแลปัจจัยการผลิต ที่ดิน ความสมบูรณ์ของดิน น้ำ กรมชลประทาน ดูแลจัดสรรเรื่องน้ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือสภาเกษตรกร ดูแลเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในแก่องค์กร เป็นต้น ซึ่งส่วนงานเหล่านี้ควรมีการกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีเกษตรกร องค์กรเกษตรกรเป็นเป้าหมายในการพัฒนา
๙. อาชีพเกษตร สาขาปศุสัตว์ เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ใช้พื้นที่ไม่มาก ใช้ปัจจัยการผลิตค่อนข้างน้อย บำรุงดูแลรักษาง่าย ไม่อาศัยปัจจัยแวดล้อมมากนัก ราคาในท้องตลาดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทั้งนี้รัฐควรให้การสนับสนุนการส่งเสริม สร้างเป็นอาชีพทดแทนการทำเกษตรในสาขาประเภทอื่น ที่มีความเสี่ยงและมีผลตอบแทนต่ำ

ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป
การศึกษาในครั้งนี้ มีข้อจำกัดด้วยกันหลายประการ กล่าวคือ เป็นการศึกษาในวงจำกัดเฉพาะสาขาอาชีพ และการใช้วิธีโดยการใช้แบบสอบถามนั้น ไม่สามารถถามได้ทุกประเด็นที่ต้องการ อีกทั้งผู้ตอบหรือกลุ่มตัวอย่างจะต้องมีความเข้าใจและต้องได้รับคำแนะนำจากผู้จัดทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถตอบได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการตอบ ในการสอบถามควรใช้คำถามในลักษณะการสัมภาษณ์ มีการอธิบายเพิ่มเติม จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วน อีกทั้งควรทำการ ศึกษาให้ครอบคลุมสาขาอาชีพเกษตรด้านอื่นๆ เพื่อจะได้กำหนดเป็นปัญหาการเกษตรของจังหวัด และเพื่อจะนำไปกำหนดมาตรการหรือแนวทางการพัฒนาอย่างแท้จริงต่อไป
............................................
สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี

                                                                                                     ๒๕๕๙