เมื่อวานนี้ได้มีพี่ท่านหนึ่งได้แชร์ภาพสอบถามการพบเห็นเพลี้ยกระโดดชนิดหนึ่งที่ลงทำลายต้นข้าวโพด ในอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรีมีหลายๆ คนสงสัยว่าใช่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ลงทำลายข้าวรึเปล่านะ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างจากจังหวัดพะเยาส่งมาให้นักอนุกรมวิธานแมลงจำแนกและจากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าเพลี้ยกระโดดชนิดนี้เคยมีรายงานการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เรามาทำความรู้จักเพลี้ยกระโดดชนิดนี้กันดีกว่าค่ะ
เพลี้ยกระโดดท้องขาว หรือ #เพลี้ยกระโดดข้าวโพด (White-Bellied Planthopper, Corn Planthopper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stenocranus pacificus Kirkaldy จัดอยู่ในอันดับ Hemiptera วงศ์ Delphacidae
รูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัย (adult) มีสีน้ำตาลอ่อน ปีกค่อนข้างใส บริเวณด้านสันหลังมีแถบสีน้ำตาลอ่อน 2 แถบ ทอดยาวคู่กันตั้งแต่บริเวณสันกระโหลก (vertex) ไปจนถึงปลายปีก เพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ โดยเพศเมียมีความยาวลำตัวประมาณ 4.5 - 5.0 มม. เพศผู้ลำตัวยาว 4.0 - 4.2 มม. บริเวณส่วนท้องด้านล่างของเพศผู้จะมีสีน้ำตาลส้ม ส่วนของเพศเมียจะมีลักษณะของไขหรือขี้ผึ้งสีขาวเคลือบอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "เพลี้ยกระโดดท้องขาว" หรือ White-Bellied Planthopper นั่นเองค่ะ
วงจรชีวิต จากการศึกษาในประเทศอินโดนีเซียพบว่าเพลี้ยกระโดดท้องขาว มีวงจรชีวิตอยู่ที่ประมาณ 38 -47 วัน ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 9 - 11 วัน โดยเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงทะลุเนื้อเยื่อพืชเพื่อวางไข่บริเวณเส้นกลางใบและกาบใบ จากนั้นเพศเมียจะทำการขับสารที่มีลักษณะคล้ายไขขี้ผึ้งสีขาวปกคลุมไข่เพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งสารสีขาวนี้จะพบในส่วนท้องของเพศเมียเท่านั้น โดยไข่ที่วางในแต่ละจุดมีจำนวนประมาณ 1 - 24 ฟอง โดยเพศเมีย 1ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 181 - 214 ฟอง ระยะตัวอ่อน (nymph) มี 5 วัย แต่ละวัยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียมีอายุประมาณ 13 - 17 วัน ซึ่งยาวนานกว่าเพศผู้ที่มีอายุประมาณ 8 - 12 วัน (Simbolon et al., 2020) ตัวอ่อนวัยแรกที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะมีสีลำตัวค่อนข้างขาว และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียวในวัยที่ 2 จากนั้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะตัวอ่อนวัยที่ 3 - 4 และสีน้ำตาลอ่อนอมส้มในระยะตัวเต็มวัย (Dumayo et al., 2007)
ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและกาบใบ ทำให้ต้นข้าวโพดชะงักการเจริญเติบโต หากระบาดรุนแรงทำให้เกิดอาการใบไหม้ (hopperburn) นอกจากนี้ยังขับถ่ายมูลหวาน (honey dew) ลงบนต้นพืชเป็นสาเหตุทำให้เกิดราดำ (sooty mold) ขึ้นปกคลุมส่วนต่างๆทำให้บดบังพื้นที่สังเคราะห์แสงของพืช พืชจึงสังเคราะห์แสงได้ลดน้อยลง อีกทั้งยังมีรายงานว่าเพลี้ยกระโดดชนิดนี้ทำให้เกิดปมตามเส้นใบและใต้ผิวใบอีกด้วย (Nelly et al., 2017) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการระบาดของเพลี้ยกระโดดท้องขาวทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง ซึ่งจากข้อมูลในประเทศอินโดนีเซียพบว่าในฤดูแล้งปี 2017 ที่พบเพลี้ยกระโดดท้องขาวระบาดรุนแรงทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลงถึง 52.2% โดยผลผลิตที่ได้จากข้าวโพดที่ถูกเพลี้ยกระโดดท้องขาวเข้าทำลายนั้นจะมีฝักที่ลีบเล็ก เมล็ดมีน้ำหนักน้อย เปราะและแตกหักได้ง่ายเมื่อนำไปเข้าเครื่องกะเทาะเมล็ด (Swibawa et al., 2018)
พืชอาหาร : ข้าวโพด (Susilo et al. and Nelly et al., 2017) ข้าวฟ่าง หญ้าโขย่ง หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนกา (Dumayo, 2007) สำหรับในประเทศไทยเคยมีรายงานว่าพบเพลี้ยกระโดดชนิดนี้ในนาข้าวแต่ไม่ใช่ศัตรูที่สำคัญ (วารี, 2543)
เขตการแพร่กระจาย : ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
เบื้องต้นควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกข้าวโพดอย่างสม่ำเสมอหากพบปุยสีขาวคล้ายขี้ผึ้งเกาะอยู่บริเวณเส้นกลางใบหรือกาบใบแสดงว่าเริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดท้องขาว
หากพบการระบาดรุนแรง ให้เลือกใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
1. สารคาร์บาริล 85%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม1)
2. สารไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม4)
3. สารไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม4)
4. สารอิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม4)
5. สารไพมีโทซีน 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม9)***
6. สารบูโพรเฟซิน 25%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม16)
7. สารฟลอนิคามิค 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม29)***
หมายเหตุ สารไพมีโทซีนและสารฟลอนิคามิดเป็นสารที่คาดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดแต่ก็มีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่าในการใช้สารด้วย
สำหรับสารอิมิดาโคลพริด, ไทอะมีโทแซม และไดโนทีฟูแรน เป็นสารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ จัดอยู่ในกลุ่ม 4 เป็นสารกลุ่มที่มีพิษต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการพ่น โดยอาจเลือกช่วงเวลาในการพ่นสารโดยพ่นช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ผึ้งและแมลงผสมเกสรออกหาอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรได้
ขอบพระคุณ คุณเกศสุดา สนศิริ นักกีฏวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้จำแนกชนิดและให้ข้อมูลเพิ่มเติมในบทความ,และคุณSadawut สำหรับรูปภาพและพื้นที่การระบาด มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
วารี หงษ์พฤกษ์. 2543. เพลี้ยจักจั่นและเพลี้ยกระโดด ศัตรูพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย. กลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร. 126 หน้า.
Dumayo, L.S., M.P. Ogdang and P.S. Leyza. 2007. Biology, host rang and natural enemies of corn planthopper, Stenocranus pacificus Kirkaldy. (Online). Available.
https://agris.fao.org/agris-search/search.do...(November 16, 2020).
Nelly, N., M. Syahrawati, and H. Hamid. 2017. Abundance of corn planthopper (Stenocranus pacificus) (Hemiptera: Delphacidae) and the potential natural enemies in West Sumatra, Indonesia. Biodiversitas. Vol. 18, Num. 2 : 697-700.
Simbolon D. U., M. C. Tobing, D. Bakti. 2020. Biology of Stenocranus pacificus Kirkaldy (Hemiptera: Delphacidae) reared on corn plants (Zea mays L.) in a screenhouse. Jurnal Entomologi Indonesia, Vol. 17, No. 2, pp. 104–111.
Susilo, F. X., I. G. Swibawa, Indriyati, A. M. Hariri, Purnomo, R. Hasibuan, L. Wibowo, R. Suharjo, Y. Fitriana, S. R. Dirmawati, Solikhin, Sumardiyono, R. A. Rwandini, D. R. Sembodo and Suputa. 2017. The White- Bellied Planthopper (Hemiptera: Delphacidae) Infesting Corn Plants in Souyh Lampung Indonesia. Tropika J. HPT. Vol.17, pp. 96 – 103.
Swibawa, I. G., F. X. Susilo, A. M. Hariri, S. Solikhin. 2018. The Population of White-bellied Planthoppers and Their Natural Enemies: the New Pest of Corn in Lampung. Jurnal Hama dan Penyakit Tumbuhan Tropika, vol. 18, no. 1, Mar. 2018, pp. 65-74.