สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

8 พฤศจิกายน 2567

สภจ.ลพบุรี ร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำฯ เริงราง

             วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 10 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี  นายกิตติพล ตะพานแก้ว ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี พร้อมสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี และพนักงานสำนักงานสภาเกษตรกรฯ เข้าร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง เพื่อสรุปผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการบริหารจัดการน้ำและแผนงานปรับปรุงโครงการ โดยมี นายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอเมืองลพบุรี เป็นประธานการประชุมฯ

            สืบเนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม และ เริงราง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ประเภทส่งน้ำและระบายน้ำ โดยใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนเจ้าพระยาในการส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานไปตามคลองชลประทาน ในปี พ.ศ. 2560 กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสมโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พบว่า การปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 โครงการฯ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานบางส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการ

            กรมชลประทาน ได้มีแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบคลองระบายน้ำ โดยการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน 182 แห่ง ถนนคันคลอง 139.39 กิโลเมตร คลองส่งน้ำ 90.45 กิโลเมตร ขุดลอกตะกอนคลองระบายน้ำรวม 2.86 ล้าน ลบ.ม. ซ่อมแซมถนนคันคลองระบาย 1.48 ล้าน ตร.ม. แผนบรรเทาอุทกภัยและการระบายน้ำ การปรับปรุง ปตร.กลางบางคู้ ปตร.บางเพลิง รวมทั้งการปรับปรุงขุดลอกคลองระบายสายสำคัญในพื้นที่ อาทิเช่น คลองระบายใหญ่เริงราง, คลองระบายใหญ่มหาราช, คลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก3 ฯ เป็นต้น แผนการปรับปรุงแก้มลิงที่สำคัญในพื้นที่ 6 แห่ง ประกอบด้วย หนองช้างทะลุ หนองสมอใส หนองน้ำพล แก้มลิงบางลี่ หนองกระพุ่ม และบึงหางสิงห์ รวมพื้นที่ 533.42 ไร่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำท่าวุ้ง ด้วยการปรับปรุงคันกั้นน้ำคลองระบายสายใหญ่-ชัยนาทป่าสัก3 ความยาว 15.31 กิโลเมตร คลองระบาย1ซ้ายลพบุรี 8.70 กิโลเมตร คลองระบายใหญ่เริงราง 23 กิโลเมตร คลองตาเมฆ 7.60 กิโลเมตร และก่อสร้างอาคารประกอบที่สำคัญ ดังนี้ ปรับปรุง ปตร.กลางคลอง ร.1 ซ้ายลพบุรี ปรับปรุงไซฟอนปลายคลอง ร.1 ซ้ายลพบุรี ก่อสร้างท่อระบายน้ำ 35 แห่ง และปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 1 แห่ง