สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

2 กรกฎาคม 2556

ปธ.คกก.ติดตามฯ โครงการข้าวจี้รบ.ทบทวนมติลดราคา





             วันที่ 28 มิ.ย. 56 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 สภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ขอให้พิจารณาทบทวนมติปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปีการผลิต 2555/56 ให้เป็นราคาตันละ 15,000 บาทตามเดิม

            นายอุบลศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลมีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ความชื้นไม่เกิน 15% จากราคา 15,000 บาท/ตัน เหลือ 12,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกข้าวเจ้าชนิดอื่น ปรับลด 20% โดยจะมีผลตั้งแต่ 30 มิ.ย. 56 เป็นต้นไป เกษตรกรทั่วประเทศต่างมีความเห็นถึงกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้ขาดทุนจากการผลิตข้าวจนไม่สามารถอยู่รอดได้ ด้วยสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่

            1.รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 23 ส.ค. 54 “จะรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% ที่ราคาตันละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ” ซึ่งได้สร้างความหวังแก่เกษตรกรและส่งผลให้ราคาปัจจัยการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

            2.ข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวจากหน่วยงานรัฐอยู่ที่ตันละ 8,700 บาท/ตัน แม้จะเป็นราคารับจำนำเดิม 15,000 บาท เมื่อหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนแล้ว เกษตรกรได้รับเงินสุทธิเพียง 12,000 บาท/ตัน มีส่วนเหลื่อมหลังหักต้นทุนการผลิตเพียงประมาณ 3,000 บาท/ตัน ซึ่งเมื่อพิจารณาระยะเพาะปลูกตลอด 4 เดือน เกษตรกรมีรายได้เหลือเพียงเดือนละ 700-800 บาท และยิ่งหากรับจำนำราคา 12,000 บาท เมื่อหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนแล้ว จะยิ่งส่งผลให้มีเงินสุทธิเพียง 9,000 บาท/ตัน ซึ่งเหลือน้อยมาก

            3.ปัญหาการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น เกิดจากการบริหารจัดการโครงการไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุนดำเนินการเพิ่มขึ้นและผลประโยชน์ไม่ตกถึงมือเกษตรกร แต่หากดำเนินการแก้ไขให้ถูกจุดจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินโครงการได้อย่างมีกำไรด้วย



“เกษตรกรมิได้เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดการขาดทุนจากการดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ต้องตกเป็นผู้รับเคราะห์จากการบริหารจัดการโครงการที่อาจจะยังมีข้อขัดข้องต้องปรับปรุงแก้ไข” ประธานคณะกรรมการฯ กล่าว