9 กรกฎาคม 2557
ธรรมศาสตร์ เปิดตัวข้าวพันธุ์ใหม่ช่วยชาวนา ‘ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์’ สถิติผลิตต่อไรสูงถึง 900 กก. พร้อมฉลองโอกาสธรรมศาสตร์ครบ 80 ปี...
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 57 ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 80 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมพิเศษหลากหลายรูปแบบ ตามแนวคิดหลัก “8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย” เพื่อเฉลิมฉลองและเน้นย้ำจุดยืนการเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ พร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ให้กับสังคมไทย ซึ่งได้จัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเปิดตัวข้าวสายพันธุ์ใหม่ชื่อ “ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์” โดยทีมวิจัยจาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทดลองวิจัยกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทาน สามารถปลูกได้หลายครั้งต่อปี ช่วยชาวนาลดต้นทุนการผลิตและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาในการปลูกและเพิ่มผลผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญหงษ์ จงคิด หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมคิดค้นข้าวพันธุ์ใหม่กล่าวว่า สำหรับ “ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์” เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้เทคนิคการฉายรังสีแกมมาในสายพันธุ์เดิมและทำการคัดเลือกสายพันธุ์จนได้สายพันธุ์ข้าวกลายพันธุ์ KDML105’ 10GR-TU-70-10 (หอมมะลิธรรมศาสตร์) ที่ยังคงมีลักษณะคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดีเทียบเท่ากับ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่มีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่า คือ เป็นข้าวเจ้าที่ไม่ไวต่อแสงในการออกดอก ด้วยลักษณะเด่นที่มีลำต้นเตี้ยสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร ลำต้นไม่หักล้มง่าย มีความทนทานต่อสภาพแล้ง สามารถต้านทานต่อโรคและแมลงรบกวนข้าวได้ดีกว่า ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้ “ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์” จึงเป็นข้าวหอมที่สามารถเพาะปลูกได้ปีละหลายๆ ครั้ง ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถของการผลิตข้าวหอมต่อปีได้มากขึ้น เฉลี่ยในสถิติล่าสุดคือ 900 กิโลกรัมต่อไร่ และเป็นข้าวพันธุ์แท้ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการกลายพันธุ์ จึงสามารถเก็บผลผลิตนำไปผลิตต่อในฤดูกาลต่อไป
ด้านอาจารย์เชาววัช หนูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกข้าวแนวใหม่ในที่แคบ ทีมนักวิจัยพันธุ์ข้าวธรรมศาสตร์และเป็นเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำข้าวพันธุ์นี้ไปทดลองปลูก กระจายให้เกษตรกรถือเป็นสิ่งที่ดี ช่วยส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวของไทย ชาวนาตอนนี้ยังเดือดร้อนอยู่มาก ข้าวพันธุ์นี้ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ีช่วยเหลือ และในฐานะตัวแทนหนึ่งของชาวนา อยากขอฝากความหวังให้ธรรมศาสตร์เป็นความหวังหนึ่งของประชาชน ช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของชาวนาด้วย เรียกว่าทุกข์ของชาวนา ก็เป็นทุกข์ของคนทำธรรมศาสตร์ด้วยแล้ว
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/407663