สภาเกษตรกร
กับการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษา ประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต การแปรรูปและการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกร เพื่อวางแผนเกษตรกรรมและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการกำหนดนโยบายและวางแผนการ พัฒนาเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้รัฐรักษาเสถียรภาพด้านราคาและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร เพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม
การเมืองอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริง และมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้านการปฏิบัติตามนโยบายเกษตรกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่าง ยั่งยืนในอนาคต
สภาเกษตรกรจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)
พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรภายในจังหวัด
(๒) ประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างองค์กรเกษตรกร
เกษตรกร สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐ
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร
กลุ่มเกษตรกร และยุวเกษตรกรในจังหวัด ในรูปแบบต่าง ๆ
(๔)
เสนอแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อบูรณาการเป็นแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
(๕) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร
และยุวเกษตรกร
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจรและยั่งยืน
(๖)
เสนอนโยบายและแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม
รวมทั้งราคาผลผลิตทางเกษตรกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(๗)
ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่เกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกร
(๘) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการใดๆ
ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๙)
ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ
แผนแม่บท
สภาเกษตรกรแห่งชาติมีหน้าที่จัดทำแผนแม่บท โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียรวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนแม่บทระดับจังหวัด
และต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) การพัฒนาศักยภาพ การส่งเสริม และการสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร
องค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร
และ
ยุวเกษตรกร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(๒) การส่งเสริม การพัฒนา
การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และการแก้ไขปัญหาดินและที่ดินโดยส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ
เกษตรกรให้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมของตนเองอย่างทั่วถึง
(๓) การสร้างความเป็นธรรมด้านราคาผลผลิตทางเกษตรกรรมโดยคำนึงถึงการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
(๔)
การพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรม
(๕) การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ
เพื่อการเกษตร
(๖) การค้นคว้า วิจัย และพัฒนาภูมิปัญญา
พันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้า
วิจัย และพัฒนา เพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรม และเกษตรอุตสาหกรรม
(๗) การเสนอแนะแนวทางในการเข้าถึงแหล่งทุน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
(๘) การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ์เกษตรกร และการเพิ่มสิทธิและบทบาทของเกษตรกรที่เกี่ยวของกับการทำกินและการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อการประกอบการเกษตร
(๙) การสร้างเครือข่ายองค์กรเกษตรกร เชื่อมโยง และพัฒนาความร่วมมือในด้านการผลิตทางเกษตรกรรม
การแปรรูป
การตลาด
และการบริโภคเพื่อการยังชีพระหว่างเครือข่ายองค์กรเกษตรกรกับภาครัฐ และภาคเอกชน
(๑๐)
การสนับสนุน ส่งเสริมการให้การศึกษา อบรม ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ด้านเกษตรกรรม และการจัดการ แก่เกษตรกรและยุวเกษตรกร
(๑๑)
การปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการเกษตรที่มีอยู่ให้สามารถรองรับการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างครบวงจรและลดการซ้ำซ้อน
รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว แผนแม่บทตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติและระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจนด้วยก็ได้