สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

6 สิงหาคม 2558



การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง


   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานในพิธีเปิดการสัมมนาการเกษตรภาคเหนือ ณ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ มีความตอนหนึ่งว่า “ป่า ๓ อย่าง นี้มีประโยชน์ ๔ อย่าง ไม่ใช่ ๓ อย่าง. “ป่า ๓ อย่าง” ที่บอกว่าเป็นไม้ฟืน เป็นไม้ผล และไม้สร้างบ้านนั้น ความจริงไม้ฟืนกับไม้ใช้สอย ก็อันเดียวกัน ไม้สร้างบ้านกับไม้ใช้สอยก็อันเดียวกัน. แต่เราแบ่งออกไปเป็นไม้ทำฟืน ไม้สร้างบ้านเรือน รวมทั้งไม้ทำศิลปหัตถกรรมแล้วก็ไม้ผล.

   คราวนี้ขอคัดค้านรายงานต่อ คือรายงานบอกว่าจะทำ “ป่า ๓ อย่าง” นี้ในที่ที่ไม่ใช่ต้นน้ำ ลำธาร. อันนี้คิดแล้วมันฟั่นเฟือนหน่อย เพราะว่าป่าเหล่านี้เป็นต้นน้ำลำธารทั้งนั้น. ถ้าไปบอกว่าไม่ทำ “ป่า ๓ อย่าง” นี้ มีไว้ทำไม มีไว้สำหรับให้เป็นประโยชน์ และเมื่อเป็นประโยชน์ต่อราษฎร ราษฎรก็ไม่ไปตัดและก็หวงแหนไว้มิให้ใครมาตัด. อันนี้เป็นข้อสำคัญ ที่ไหนเป็นป่าที่เรียบร้อยที่ยังไม่โกร๋น ราษฎรก็จะไม่ตัดเพราะรู้. ไปหลายแห่งแล้ว ไปถามราษฎรว่าป่าตรงนั้นเป็นอย่างไร. เขาบอกว่าป่ายังดี. และถามว่าจะไปตัดไหมเขาบอกว่าไม่ตัด “ถ้าไปตัดเฮาแย่.” เขาเข้าใจ ถ้าตัดไม้แล้วจะแห้งแล้ง และดินจะทลายลงมา. ถ้าเป็นที่ทำนาก็จะเสียหมด เขารู้.

   รายงานอันนี้ดูถูกชาวบ้าน ดูถูกประชาชน ประชาชนนั้นฉลาด ประชาชนมีความรู้ ทั้งคนที่อยู่บนภูเขา และคนที่อยู่ในที่ราบ. เขามีความรู้ เขาทำงานมาหลายชั่วคนแล้ว เขาทำกินอย่างดี เขามีความเฉลียวฉลาด เขารู้ว่าตรงไหนควรจะทำกสิกรรม เขารู้ว่าที่ไหนควรจะเก็บไม้ไว้. แต่ที่เสียไปก็เพราะพวกที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ทำนามานานแล้ว ทิ้งนามานานแล้ว ทิ้งกสิกรรมมานานแล้ว. แล้วมาอยู่ในที่ที่มีความสะดวก ก็เลยทำให้ลืมว่าชีวิตเป็นไปได้ ก็โดยที่ทำกสิกรรมที่ถูกต้อง แต่ชาวบ้านหรือชาวเขามีความรู้พอเพียง. แค่อธิบายนิดหน่อยเขาก็ อ้อๆ เข้าใจๆ ถ้าเราพูดให้เขาเข้าใจ เขาก็เข้าใจ. แต่ถ้าเราพูดภาษาที่ไม่เข้าใจ เขาก็ไม่เข้าใจ.

   ฉะนั้น ถ้าเราทำ “ป่า ๓ อย่าง” นี้ ซึ่งมีประโยชน์ ๔ อย่าง – ซึ่งประโยชน์ที่ ๔ นี้สำคัญคือ รักษาอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร – ชาวบ้านเขาจะรักษาให้เราด้วย. ที่พูดถึงเราก็หมายความถึงป่าไม้. กรมป่าไม้นั้นมีหน้าที่รักษาป่าให้อยู่ดี เป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่ง แต่บางทีไปถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ว่าใครจะรักษาเขาก็บอกว่าเขาจะรักษา. ถามว่าถ้าใครมาตัดจะทำอย่างไร ก็ตอบว่า “ก็บอกตำรวจซี.” ตำรวจมี กี่คน อำเภอหนึ่ง ๆ ซึ่งใหญ่ และถ้าสมมุติว่าเป็นอำเภอที่มีภูเขา มีป่าไม้มาก ดูไม่ไหว. อำเภอหนึ่ง ๆ มีตำรวจสัก ๕๐ คน อันนี้พูดตามที่ได้ฟังมา. แต่ที่ดินที่ที่เป็นป่ามีกี่แสนไร่ ก็หมายความว่า ในที่แห่งหนึ่งจะมีตำรวจสักเศษหนึ่งส่วนสี่คน ซึ่งทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าไม่ถึงคน เดินก็ไม่ได้ ดูอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่ไหวจริง ๆ

   ฉะนั้นถ้าหากเราทำ “ป่า ๓ อย่าง” ให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์และได้ใช้ประโยชน์ เขาก็จะรักษาประโยชน์. เขาจะไม่ทำลาย และใครมาทำลาย เขาก็ป้องกัน. หมายความว่าชาวบ้านนั้น ถ้าเราให้โอกาสให้เขามีอยู่มีกินพอสมควรก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้เราเป็นจำนวนมาก. อย่างในร่องหุบเขาเล็กๆ ที่มีเพียง ๕๐ ไร่ ก็จะทำเป็นหมู่บ้านให้ชาวบ้านมาอยู่. คำว่าชาวบ้านนี้จะเรียกว่าชาวบ้านก็ได้ ชาวเขาก็ได้ ก็เป็นชาวบ้านทั้งนั้น. เคยไปถามชาวเขา พูดถึงเรื่องว่าจะทำโครงการอะไรๆ “เราก็ต้องช่วยกันรักษานะ” เขาบอกว่า “หมู่เฮาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน” ก็หมายความว่า เป็นชาวบ้านเหมือนกัน ช่วยกันทำ เขาก็อยากอยู่ใต้กฎหมาย ทำงานที่สุจริต. ถ้าเราทำอะไรที่ดี มีเหตุผล เขาก็จะรักษา “ป่า ๓ อย่าง” นี้ ไม่ใช่รักษาต้นน้ำลำธารแล้ว ก็เป็นความคิดที่ผิด เพราะว่าต้นไม้ จะเป็นต้นอะไรก็ตาม มีประโยชน์ทั้งนั้น. ใช้ประโยชน์จากต้นไม้นั้น และมีประโยชน์ที่ ๔ คือ อนุรักษ์ดินและอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร. ฉะนั้น เรื่องนี้ก็ขอท้วงนิดหน่อย”

   พระราชดำรัสพระราชทาน ที่ทรงชี้ทางออกให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง น่าจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างส่วนราชการ และเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของราษฎรในชุมชนให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ จากทรัพยากรป่าไม้ เพื่อชุมชนจะได้รักษาทรัพยากรป่าไม้ไว้อย่างยั่งยืน

   รูปแบบการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำ

   นอกจากรูปแบบการปลูกป่าภาครัฐ ซึ่งส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอดแล้ว มติที่ประชุมได้พิจารณากำหนดรูปแบบการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำเพิ่มเติมคือ การปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ โดยการปลูกไม้ ๓ ชนิด เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง สามารถยังประโยชน์ได้สูงสุด

   โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

๑. เพื่อสนองตามแนวพระราชดำริในการปลูกต้นไม้ ๓ ชนิด ได้แก่

 - ไม้ใช้สอย

 - ไม้ก่อสร้าง

 - ไม้กินได้

ประโยชน์ ๔ อย่าง ได้แก่

 - ใช้เป็นฟืนสำหรับหุงต้มและใช้สอยเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

 - ใช้สร้างและซ่อมแซมที่พักอาศัย

 - ใช้เป็นอาหาร

 - เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำในขณะเดียวกัน

๒. การมีส่วนร่วมของชุมชน

๓. เพื่อสนองความต้องการของชุมชน

๔. เพื่อฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ – พื้นที่ต้นน้ำ


 วิธีดำเนินการ

 ปลูกไม้ ๓ ชนิด ในพื้นที่เดียวกันเพื่อประโยชน์ ดังนี้

๑. ไม้ใช้สอย (ไม้ฟืน, ไม้โตเร็ว) จำนวน ๑๐๐ ต้น/ไร่ ใช้ระยะปลูก ๔ x ๔ เมตร

๒. ไม้ก่อสร้าง (ไม้เนื้อแข็ง, ไม้เศรษฐกิจ) จำนวน ๑๐๐ ต้น/ไร่ ใช้ระยะปลูก ๔ x ๔ เมตร

๓. ไม้ป่ากินได้ จำนวน ๒๕ ต้น/ไร่ ใช้ระยะปลูก ๔ x ๔ เมตร

(ไม้ชั้นล่าง ปลูกพืชหัว สมุนไพร และพืชล้มลุก)

 การปลูกและชนิดพันธุ์ไม้ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ให้พิจารณาปลูกพันธุ์ไม้ตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วย ไม้กินได้ ไม้มีค่า และไม้ใช้สอย ปลูกจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ต้นต่อไร่ และให้มีเรือนยอดหลายชั้นใกล้เคียงกับป่า ชนิดพันธุ์ไม้ให้พิจารณาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้อื่นตามความเหมาะสม

วิธีการปลูกและบำรุงรักษา ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพป่าในเขตอนุรักษ์ที่มิใช่พื้นที่ต้นน้ำ โดยมีบัญชีแสดงชนิดไม้ที่กำหนดให้ใช้ปลูกตามแนวทางปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพป่าในเขตอนุรักษ์ที่มิใช่พื้นที่ต้นน้ำ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนี้

ชนิดไม้ที่กำหนดให้ปลูก
ภาคเหนือ สัก สนเขา (Pinus) ยมหอม ยมหิน มะค่าโมง ตะเคียนทอง ประดู่ป่า แดง ยางนา ตะแบก จำปีป่า จำปาป่า แอปเปิลป่า กำลังเสือโคร่ง นางพญาเสือโคร่ง มะม่วงป่า ตะกู มะกอกป่า ตีนเป็ด หว้า เพกา ราชพฤกษ์ นนทรีป่า ก่อ ทะโล้ มะขามป้อม เสี้ยว สะเดา ขี้เหล็กบ้าน บง ไผ่ต่าง ๆ หวาย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัก มะค่าโมง มะค่าแต้ ตะเคียนทอง ยมหิน ประดู่ป่า แดง ยางนา พะยอม ตะแบก สนเขา (Punus) ชิงชัง พะยูง มะม่วงป่า เต็ง รัง เหียง พลวง นนทรีป่า ถ่อน พฤกษ์ ขี้เหล็กบ้าน สะเดา สีเสียดแก่น สาธร สนเขา บง ไผ่ต่าง ๆ หวาย


ภาคกลาง – ตะวันตก ประดู่ป่า สะเดา สีเสียดแก่น ตะกู มะปิน กฤษณา สัก ยมหอม ยมหิน ตะเคียนทอง แดง ยางนา ยางแดง ตะแบก มะม่วงป่า นนทรีป่า ไผ่ต่าง ๆ หวาย กันเกรา มะเกลือ ตีนเป็ด นางพญาเสือโคร่ง ขี้เหล็กบ้าน มะขามป้อม สนทะเล ทองหลาง


ภาคใต้ ประดู่ป่า ทัง มะม่วงป่า หลุมพอ ตะกู ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว เคี่ยม ยางนา กันเกรา ไข่เขียว ทุ้งฟ้า ขี้เหล็กบ้าน ยมหิน ทุเรียนป่า สะตอ เหรียง พะยอม ไผ่ต่าง ๆ หวาย

หมายเหตุ 1. สำหรับไม้ชนิดอื่น ๆที่นอกเหนือจากบัญชีนี้ หากหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องใช้ปลูกให้ชี้แจงเหตุผลและขออนุมัติต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก่อน

๒. การปลูกซ่อมให้ปลูกซ่อมด้วยไม้ชนิดเดียวกันกับที่ปลูกในครั้งแรก หากจำเป็นต้องปลูกด้วยไม้ชนิดอื่นและเป็นชนิดไม้ที่มีอยู่ตามบัญชี ให้เสนอเหตุผลความจำเป็นและขออนุมัติจากผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ท้องที่ และให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ท้องที่รายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทราบด้วย

๓. บัญชีแสดงชนิดไม้นี้ไม่ใช้บังคับสำหรับการปลูกเพื่อการทดลองทางวิชาการหรือการสาธิต

การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ปลูก

   ๑. ไม้ใช้สอย หมายถึง ไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ในการก่อสร้าง ทำเครื่องมือกสิกรรม ทำเฟอร์นิเจอร์ ประดิษฐกรรม ฟืนและถ่านฯ ซึ่งชนิดไม้ที่ปลูกสามารถตัดฟันนำมาใช้ประโยชน์ได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น๕- ๑๐ ปี ส่วนใหญ่จะเน้นหนักพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นหลัก แต่หากในบางพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ไม้ขนาดเล็ก เพื่ออุตสาหกรรม ประดิษฐกรรม พันธุ์ไม้มีค่าเศรษฐกิจบางชนิดแล้ว เช่น ไม้สัก ก็จัดเป็นไม้ใช้สอย

ชนิดไม้ที่เหมาะสมสำหรับปลูกเป็นไม้ใช้สอย ควรมีลักษณะดังนี้

๑) เป็นชนิดไม้ที่หาพันธุ์ได้ง่ายและโตเร็วในท้องถิ่นนั้น มีเรือนยอดขนาดปานกลาง รวมถึงความสามารถต้านทานต่อปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี

๒) ให้ผลผลิตด้านเนื้อไม้สูงและมีกิ่งก้านมากพอสมควร

๓) มีระบบรากค่อนข้างลึกเพื่อลดการแก่งแย่งธาตุอาหารจากพืชเกษตร และพ้นอันตรายจากการไถพรวน

๔) ปลูกและบำรุงรักษาได้ง่าย

๕) มีอายุการตัดฟันในระยะสั้น ๕-๑๕ ปี และมีความสามารถในการสืบต่อพันธุ์โดยวิธีง่าย ๆ เช่น แตกหน่อได้ดี

๖) เป็นชนิดไม้ที่ให้ค่าความร้อนสูงเพื่อใช้เป็นฟืนถ่าน

๗) เป็นไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้เอนกประสงค์ เช่น ใบ ดอก ผล ใช้เป็นอาหารได้

๘) สามารถช่วยให้การปรับปรุงดินได้ดี

    การเลือกชนิดไม้ปลูก นอกจากจะต้องเป็นชนิดไม้ที่ควรมีลักษณะดังกล่าวข้างต้นแล้ว การเลือกชนิดไม้ปลูกยังจะต้องคำนึงถึง ความต้องการปัจจัยแวดล้อมของพันธุ์ไม้ชนิดนั้น ๆ โดยพันธุ์ไม้แต่ละชนิดจะมีความต้องการปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญและมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ประกอบด้วย สภาพภูมิอากาศ ดิน แมลงและเชื้อโรค การที่ปลูกได้ทราบข้อมูลว่าพันธุ์ไม้ชนิดใดชอบขึ้นในสภาพแวดล้อมอย่างไร จะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกชนิดไม้ปลูกเป็นอย่างมาก ชนิดพันธุ์ไม้เลือกปลูกอาจจะเป็นที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นหรือนำมาจากแหล่งอื่น แต่ในทางปฏิบัติที่ดีควรเลือกชนิดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นอันดับแรกเสียก่อน เพราะจะเป็นวิธีการที่ประหยัดและปลอดภัยที่สุด ส่วนการเลือกชนิดพันธุ์ไม้ต่างถิ่นนำมาปลูกควรเป็นอันดับรองและมีความแน่ใจขึ้นได้ดี ดังนั้นการได้ทราบความต้องการปัจจัยแวดล้อมของพันธุ์ไม้บางชนิดเสียก่อน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกชนิดไม้ปลูก

   ไม้โตเร็วในรูปของฟืนและถ่าน ขณะนี้ความต้องการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มีมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนป่าธรรมชาติมิอาจสนองตอบได้ทันท่วงที การปลูกไม้ไว้ใช้สอยสำหรับชุมชน จึงเกิดขึ้นอย่างมากมายทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะการปลูกไม้โตเร็วสำหรับใช้สอยและฟื้นฟูสภาพพื้นดินที่เสื่อมโทรมในปัจจุบันให้ดีขึ้น พันธุ์ไม้ที่กรมป่าไม้ได้แนะนำให้ประชาชนปลูก ได้แก่ ยูคาลิปตัส สนประดิพัทธ์ กระถินยักษ์ สะเดา เลี่ยน กระถินณรงค์ สะแก ขี้เหล็ก สนทะเล และพุทรา เป็นต้น

   ๒. ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้าง

ไม้เป็นวัสดุซึ่งมนุษย์รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีการนำมาใช้ประโยชน์เป็นเวลานาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื้อไม้เป็นส่วนที่ได้จากไม้ยืนต้น ซึ่งนำไปใช้สอยในรูปต่าง ๆ มากกว่าส่วนอื่น ส่วนของเนื้อไม้อาจแบ่งได้ ๓ ลักษณะ

๑. เนื้อไม้โดยตรง เช่น ไม้กระดาน ไม้ก่อสร้างต่าง ๆ เครื่องเรือน ฯลฯ

๒. เซลล์ในเนื้อไม้ เช่น กระดาษ หีบห่อ ฯลฯ

๓. อนูหรือสารเคมีจากไม้ เช่น ยา กาวเคมี เครื่องนุ่งห่ม ไหมเทียม พลาสติก ฯลฯ

ไม้เป็นวัสดุที่ได้จากธรรมชาตินำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ จากไม้ยืนต้น ๓ ประเภท

๑. ไม้ในรูปเข็ม พวกไม้สน (Pine)

๒. ไม้ใบกว้าง ที่ใช้กันทั่วไปในบ้านเราและรู้จักกันดีทั่วไป เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ฯลฯ

๓. ไม้ไผ่และปาล์ม ไม้ไผ่เป็นที่รู้จักกันดี ส่วนไม้พวกปาล์ม ได้แก่หวาย มะพร้าว ตาล หมาก


ไม้ที่เหมาะสมใช้ในงานก่อสร้างและการใช้สอยอื่น ๆ

๑. เสา ได้แก่ เต็ง ตะเคียนทอง รัง แดง เคี่ยม มะค่าโมง ประดู่ เคี่ยมคะนอง สัก เขล็ง กันเกรา หลุมพอ เลียงมัน ตีนนก

๒. เสาเข็ม ได้แก่ เต็ง รัง ติ้ว แต้ว พลวง ตะแบก สนทะเล สนประดิพัทธ์ ยางพารา ยูคาลิปตัส

๓. แบบหล่อคอนกรีต ได้แก่ กะบาก งิ้ว สมพง เผิง

๔. หมอนรถไฟ ได้แก่ เต็ง รัง แดง มะค่าโมง กันเกรา ตะเคียนชัน มะค่าแต้ เลียงมัน เขล็ง พันจำ เคี่ยม บุนนาค สักทะเล เคี่ยมคะนอง ซาก ตีนนก หลุมพอ

๕. ไม้ขีดไฟ ไม้จิ้มฟัน ได้แก่ มะกอก ตีนเป็ด ปออีเก้ง ปอฝ้าย ลุ่น กระเจา อ้อยช้าง มะยมป่า งิ้ว ไข่เนา สำโรง ซ้อ

๖. ด้ามเครื่องมือ ได้แก่ กระถินพิมาน ชิงชัง ฝรั่ง หลุมพอ กระพี้เขาควาย พลวง ชุมเห็ด เลียงมัน แดง แก้ว พะวา เหลาเตา เต็ง มะเกลือ ตะเคียนหนู รกฟ้า ขานาง พยุง ตะแบก

๗. เครื่องเรือน ได้แก่ ประดู่ ชิงชัง พยุง มะเกลือ มะค่าโมง มะม่วงป่า ยมหอม ตาเสือ กันเกรา จำปาป่า ตะแบก เสลา สัก กระพี้เขาควาย ดำดง จันทร์ดง

   ๓. ไม้กินได้

ไม้ทุกชนิดมีคุณสมบัติที่ให้คุณค่าในทุก ๆ ด้านได้อย่างเอนกประสงค์ และมีไม้บางชนิดมีคุณลักษณะเพิ่มเติม สามารถให้ประโยชน์ที่ใช้ส่วนต่าง ๆ เป็นอาหารได้ แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ดังนี้

๑) ประเภทที่กินใบและยอดอ่อน ได้แก่ กันเกรา ขี้เหล็กบ้าน ถ่อน เพกา มะกอกป่า มะม่วงป่า สะเดา สะตอ หว้า นนทรีป่า ฯลฯ

๒) ประเภทที่กินดอก ได้แก่ ขี้เหล็กบ้าน พะยอม เพกา สะเดา ฯลฯ

๓) ประเภทที่กินผล ได้แก่ ก่อ นางพญาเสือโคร่ง มะกอกป่า มะเกลือ มะขามป้อม มะม่วงป่า หว้า หวาย ฯลฯ

๔) ประเภทที่กินฝัก ได้แก่ แดง เพกา มะค่าแต้ มะค่าโมง สะตอ เหรียง ฯลฯ

๕) ประเภทที่กินหัว ราก หน่อ และอื่น ๆ ได้แก่ ไผ่ต่าง ๆ สีเสียดแก่น หวาย นนทรีป่า


   ประเภทและลักษณะการเจริญเติบโตของไม้

   การเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ ลักษณะเฉพาะพันธุ์ไม้ที่สำคัญซึ่งเป็นตัวแทนของไม้แต่ละประเภท เพื่อประกอบการพิจารณาและตัดสินใจปลูก โดยแยกกลุ่มชนิดพรรณไม้ตามลักษณะการเจริญเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของไม้แต่ละชนิด ออกเป็น ๕ กลุ่ม โดยพิจารณาเมื่อต้นไม้มีอายุและโตได้ขนาดเส้นรอบวงที่ระดับอก ๑๐๐ ซม. หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ ซม. ซึ่งเป็นขนาดจำกัดที่เริ่มนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้

๑. ไม้โตเร็วมาก คือ ไม้ที่ใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขนาดที่กำหนด เมื่ออายุ ๕-๑๐ ปี โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นรอบวงมากกว่า ๕ ซม.ต่อปี หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ ๑.๕ ซม. เช่นไม้สะเดาเทียม ตะกู เลี่ยน กระถินณรงค์ กระถินเทพา ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส

๒. ไม้โตเร็ว คือ ไม้ที่ใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขนาดที่กำหนดประมาณ ๑๐-๑๕ ปี โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นรอบวงปีละประมาณ ๕ ซม. หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่ระดับอกเพิ่มขึ้นปีละ ๑.๕ ซม. ได้แก่ ไม้สะเดา ขี้เหล็ก ถ่อน สีเสียดแก่น โกงกาง สนทะเล สนประดิพัทธ์

๓. ไม้โตปรกติ คือ ไม้ที่ใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขนาดที่เริ่มใช้ประโยชน์ได้เมื่ออายุ ๑๕-๒๐ ปี โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นรอบวง ๒.๕-๔ ซม./ปี หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้น ๐.๘-๑.๒ ซม./ปี ได้แก่ ไม้สัก สนสามใบ สนคาริเบีย

๔. ไม้โตค่อนข้างช้า คือ ไม้ที่ใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขนาดจำกัดต่ำสุดที่เริ่มใช้ประโยชน์ได้ (เส้นรอบวงของลำต้นที่ระดับอก ๑๐๐ ซม.) เมื่ออายุ ๒๐-๒๕ ปี โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นรอบวง ๑-๒.๕ ซม./ ปี หรือมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๓-๐.๘ ซม./ปี ได้แก่ ไม้ประดู่ ยางนา แดง หลุมพอ

๕. ไม้โตช้า ได้แก่ ไม้ที่มีอายุตัดฟัน ๒๕-๓๐ ปี จึงจะโตได้ขนาดจำกัดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นรอบวงร้อยกว่า 1 ซม./ปี หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ๐.๓ ซม./ปี เช่น ไม้ตะเคียนทอง พะยูง ชิงชัน มะค่าโมง เต็ง รัง


เอกสารอ้างอิง


หนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๔.๒/๑๕๓๙๑ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๗

หนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ทส ๐๙๐๖.๒๐๔/๑๑๓๗ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑

หนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ทส ๐๙๐๘.๑/๑๓๕๓๐ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๑

กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้. การปลูกและใช้ประโยชน์ไม้ใช้สอย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๐

โครงการพัฒนาป่าชุมชน สำนักวิชาการป่าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้. การปลูกไม้ป่า. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.มงคลการพิมพ์, ๒๕๓๖

ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ และสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. คู่มือการปฏิบัติงานการจัดการลุ่มน้ำ. กรุงเทพฯ : กรมป่าไม้, ๒๕๔๔

สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้. เทคนิคในการสร้างธนาคารอาหารของชุมชน.กรุงเทพฯ :
ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๔๖

(ที่มา ak.dnp.go.th)