สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี รับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี โทรศัพท์: ๐๓๖-๗๗๖๑๖๒

2 กุมภาพันธ์ 2561

การประชุมสภาเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกับกรมชลประทาน

          

        วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ ที่ ห้องประชุมชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา   นายสุชาติ หาญชนะชัยกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมสภาเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกับกรมชลประทานเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการจัดสรรน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปี ๒๕๖๑ โดยมี นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ที่ปรึกษากรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๑๑ นายสุชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๑๒ นายอรรถพร ปัญญาโฉม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ) สำนักงานชลประทานที่ ๑๐ และนายฤทธิรุทร เขตรำพรรณ หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง ๑๐ จังหวัด เข้าร่วมประชุม
          ทั้งนี้ สภาเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ดังนี้
๑.ขอให้กรมชลประทานส่งน้ำให้พร้อมกันทุกจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปี ๒๕๖๑ ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ และเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ เพื่อไม่ให้พื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงต่อไป
๒. ขอให้กรมชลประทานปล่อยน้ำเข้าทุ่ง หลังจากเพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการกระจายน้ำเข้าพื้นที่ทำนาโดยทั่วไปไม่ใช่เฉพาะทุ่งรับน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำเพียงอย่างเดียว
          ในการนี้ นายสุชาติ หาญชนะชัยกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้แทนสภาเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในประเด็นดังกล่าว โดยผลการพิจารณาการปรับ
ปฏิทินปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ ๑.๑๕ ล้านไร่ กรมชลประทานคาดการณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ทั้งหมด ๕๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทำให้ไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปีในลุ่มเจ้าพระยาได้ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ ตามข้อเสนอของสภาเกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการลำเลียงน้ำผ่านแม่น้ำสายหลัก และระบบชลประทานที่มีระยะทางยาวกว่า ๔๐๐ กิโลเมตร  นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวยังมีเกษตรกรผู้ใช้น้ำจำนวนมากซึ่งมีความต้องการน้ำเช่นเดียวกัน อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับช่วงต้นฤดูฝน ๒๕๖๑ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำมีกำหนดการจัดสรรน้ำในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ส่วนประเด็นการปล่อยน้ำเข้าทุ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระจากพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น กรมชลประทานจะพิจารณาจากช่วงระยะเวลาน้ำหลาก และปริมาณน้ำสูงสุด ที่จะต้องมีการตัดยอดน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ไม่เกินศักยภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา

แหล่งอ้างอิง : Manager Online
https://mgronline.com/uptodate/detail/9610000010761